รายงานสอบสวนโรคไข้หวัดใหญ่ บ้านดงขวาง หมู่ที่ 8 ตำบลหนองใหญ่ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด
ระหว่างวันที่ 15-24 กรกฎาคม 2552
นายวุฒิชัย สิงห์บุตราตำแหน่ง นักวิชาการสาธารณสุขปฏัติการ หน่วยงาน สถานีอนามัยบ้านหนองใหญ่
นายศิริ สุริโย ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ หน่วยงานสถานีอนามัยบ้านหนองใหญ่
นางช่ออัจฉรา จตุรโพธิ์ ตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หน่วยงาน สถานีอนามัยบ้านหนองใหญ่
นางสาวสุรัชฎา โยคะสัย ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หน่วยงาน สถานีอนามัยบ้านหนองใหญ่
……………………………………………………………………………………………………………………………….
บทคัดย่อ
วันที่ 15 กรกฎาคม 2552 เวลา 09.00 น. สถานีอนามัยบ้านหนองใหญ่ รับแจ้งจากสำนักงาน
สาธารณสุขอำภอศรีสมเด็จ ว่ามีผู้ป่วย ป่วยด้วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เข้า รับการ
รักษาที่โรงพยาบาลศรีสมเด็จ เวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยบ้านหนองใหญ่ ได้ออกสอบสวนโรค เพื่อยืนยันการเกิดโรค และหาแนวทางการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่ เป็นการศึกษาเชิงระบาดวิทยา โดยสอบถามข้อมูลจากญาติ ผู้ป่วย เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศรีสมเด็จ และเวชระเบียนของผู้ป่วย ข้อมูลผู้ป่วยที่มารับบริการย้อนหลัง 1 ปี ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจ Throat swab ได้ผล Positive การค้นหาผู้ป่วยในชุมชน ไม่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยบ้านหนองใหญ่ ได้ดำเนินการให้สุขศึกษาแก่ผู้ป่วย ญาติ อสม.ผู้นำชุมชน ในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และการรับเชื้อ ให้สุขศึกษาแก่ประชาชน โดยให้ อสม.เป็นผู้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ระดับตำบล เฝ้าระวังกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ และค้นหาผู้ป่วยต่อไป อีกอย่างน้อย 15 วัน
ความเป็นมา
วันที่ 15 กรกฎาคม 2552 เวลาประมาณ 09.00 น.สถานีอนามัยบ้านหนองใหญ่ ได้รับรายงานทางโทรศัพท์จากศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและควบคุมโรคอำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ว่าพบผู้ป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีสมเด็จ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 1 ราย ชื่อนางสาวสุจิตตรา อามัสสา อายุ 15 ปี ที่อยู่อาศัย บ้านเลขที่ 22 หมู่ที่ 8 บ้านดงขวาง ตำบลหนองใหญ่ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ดังนั้นทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วสถานีอนามัยบ้านหนองใหญ่ ตำบลหนองใหญ่ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด จึงได้ออกสอบสวนโรคในชุมชน วันที่ 15 กรกฎาคม 2552 เวลา 11.00 น.
วัตถุประสงค์ของการสอบสวนโรค
1. เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและการระบาดของโรค
2. เพื่อค้นหาแหล่งที่มาของโรค
3. เพื่อค้นหาผู้สัมผัสโรคและผู้ป่วยรายใหม่
4. และป้องกันการแพร่กระจายของโรค
5. เพื่อหาแนวทางในการป้องกันและควบคุมโรค
วิธีการศึกษา
ศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานดังต่อไปนี้
1. เก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยจากการใช้แบบสอบสวนโรคสัมภาษณ์ผู้ป่วยจำนวน 1 ราย ทบทวนข้อมูลจากเวชระเบียนเก็บข้อมูลจากการบันทึกทางการแพทย์ของผู้ป่วยและศึกษารายละเอียดญาติผู้ป่วยในชุมชนที่เกิดโรค
2. สัมภาษณ์ เจ้าหน้าที่เวรที่ขึ้นปฏิบัติงานขณะที่ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ผู้ป่วย และญาติ เกี่ยวกับอาการป่วย การรักษา และผู้ใกล้ชิดที่มีอาการป่วย
3. ค้นหาผู้ป่วยรายอื่น โดยกำหนดนิยามผู้ป่วย (Case definition) หมายถึง ผู้ที่มีประวัติร่วม
เดินทางไปกับผู้ป่วย และผู้ใกล้ชิด ที่มีอาการ ไข้มากกว่า 38 องศาเซลเซียสร่วมกับ ไอ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ อย่างน้อย 3 อาการ ร่วมกับมีประวัติ สัมผัส สัตว์ปีกโดยตรงในระยะ 7 วันก่อนเริ่มป่วย หรือมีสัตว์ปีกตายมากช่วงรอบ 14 วันก่อนวันเริ่มป่วย หรือผู้อยู่ร่วมบ้านในที่ทำงานผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่ หรือปอดอักเสบ ภายใน 1 สัปดาห์ก่อนวันเริ่มป่วย หรือผู้ที่เคยเดินทางในพื้นที่ที่มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
4. เครื่องมือที่ใช้ โดยใช้แบบสอบสวนผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่(ที่ระบาดใน
เม็กซิโก) ของสำนักระบาดวิทยา
5. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ Throat swab
7. วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อศึกษาลักษณะการกระจายของข้อมูล โดยใช้สถิติ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ
ผลการสอบสวนโรค
ข้อมูลทั่วไป
ผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 15 ปี อยู่บ้านเลขที่ 22 หมู่ที่ 8 บ้านดงขวาง ตำบลหนองใหญ่ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด
บ้านดงขวาง หมู่ที่ 8 จำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 94 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งหมดจำนวน 454 คน ชาย 219 คน หญิง 235 คน อายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 98 คน กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน จำนวน 5 คน โรคความดันโลหิตสูง จำนวน 12 คน กลุ่มผู้สูงอายุ จำนวน 42 คน
ประวัติส่วนตัวและครอบครัว
ผู้ป่วยเกิดที่บ้านดงขวาง หมู่ที่ 8 อายุ 15 ปี ตำบลหนองใหญ่ อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ครอบครัวมีทั้งหมดจำนวน 7 คน มีพี่น้องทั้งหมด 2 คน
ประวัติการเดินทาง
ผู้ป่วยไม่มีประวัติเดินทางออกนอกพื้นที่หรือเดินทางไปพื้นที่อื่นนอกเหนือจากเดินทางไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนสตรีศึกษาร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด
สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย
ผู้ป่วยพักอาศัยอยู่กับบิดามารดา บ้านอยู่อาศัยมีความมั่งคงถาวร เป็นบ้าน 2 ชั้น ด้านบนเป็นไม้ ใช้ฝากั้น ด้านล่างก่อกั้นด้วยอิฐ ปูน สภาพแวดล้อมครัวเรือนไม่ค่อยเป็นระเบียบมากนัก เลี้ยงสัตว์ปีกไว้ในบริเวณบ้าน ในวันที่ออกสอบสวนโรคไม่พบสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย
ข้อมูลการเจ็บป่วย
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต
ช่วงเดือน พฤษภาคม 2552 ผู้ป่วยเข้ารับรักษาพยาบาลที่สถานีอนามัยบ้านหนองใหญ่ด้วยแผลพุพองที่เท้า
ประวัติการเจ็บป่วยในปัจจุบัน
วันที่ 10 กรกฎาคม 2552 ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอ ไอ น้ำมูกใส ปวดศีรษะและปวดกล้ามเนื้อ มีอาการหนาวสั่น อาเจียน รักษาจากหมอชาวบ้าน
วันที่ 11 กรกฎาคม 2552 ไข้หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน 1 ครั้ง เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีสมเด็จ น้ำหนักตัว 53 กิโลกรัม สูง 155 เซนติเมตร อุณหภูมิร่างกาย 37.7 องศาเซลเซียส ชีพจร 100 ครั้ง/นาที การหายใจ 26 ครั้งต่อนาที ความันโลหิต 100/60 mm/Hg
ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
วันที่ 12 ก.ค. 52 ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ CBC ; Hct. 36.8 % WBC 8,100 mm3 Plt 214 x 103 / mm3 N 58 % L 30 % E 6 % Monocyte 6 % RBC 4.67 x 103 / mm3
วันที่ 14 ก.ค. 52 แพทย์ ทำ Throat swab ส่งตรวจศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.ขอนแก่น
ผลตรวจThroat swab ให้ผล Positive
การรักษาของแพทย์และการพยาบาลผู้ป่วย
Domperidone 1X3 ac
Paracetamol 500 mg 1-2 tap X 4-6 Prn
CPM 4 mg 1x3 pc
5%DNN/2 1000 cc. IV
การรับประทานอาหารอ่อน และเฝ้าระวังสังเกตอาการ
ผลการศึกษาทางระบาดวิทยา
1. สถานที่ ผู้ป่วยไม่เคยเดินทางออกนอกพื้นที่ แต่ได้เรียนหนังสือที่โรงรียนสตรีศึกษาร้อยเอ็ด ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้ป่วยที่โรงรียนสตรีศึกษาป่วยด้วยโรคไข้หวัใหญ่ 2009
2. ตัวเชื้อโรค จากผลตรวจ Throat swab ให้ผล Positive ต่อเชื้อไข้หวัดหวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1เอ็น1ในผู้ป่วยแสดงว่า ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ จริง ซึ่งนับเป็นผู้ป่วยรายแรกของตำบลหนองใหญ่
3. รายชื่อผู้สัมผัสและผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย มีจำนวน 5 คน จากการเฝ้าระวัง ไม่พบว่ามีบุคคลใดที่มีอาการป่วยเป็นไข้หวัด
กิจกรรมการดำเนินงานในชุมชน
มาตรการควบคุมและป้องกันโรค
1. ให้สุขศึกษาแก่ผู้ป่วยและญาติ ที่ดูแลผู้ป่วย ในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และการ
ป้องกันเชื้อโรค โดยให้ผู้ป่วยใช้ผ้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปาก ญาติใส่หน้ากากอนามัยจากการแจกจ่ายของเจ้าหน้าที่สอ.
2. ให้สุขศึกษาประชาสัมพันธ์ ประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และเตรียม
ความ พร้อมรับมือการระบาดของโรคที่อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับ โรคไข้หวัดใหญ่ และไม่เดินทางไป พื้นที่เสี่ยง เช่น ต่างประเทศ หรือในจังหวัดที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด เอ เอช 1 เอ็น 1 และการดูแลเมื่อมีผู้ป่วยอยู่ในบ้าน
3. เฝ้าระวังผู้สัมผัสกับผู้ป่วยต่อไปอีก 15 วัน โดยให้ อสม.ได้เฝ้าระวังเชิงรุก โดยเฉพาะ
กลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กอายุ ต่ำกว่า 15 ปี กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะโรคอ้วน โรคหอบหืดและกลุ่มผู้ป่วยโรคติดเชื้อเรื้อรังต่างๆให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ หากมีผู้ป่วยให้รายงานให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบโดยเร็ว
4. มาตรการที่ต้องเน้นหนัก คือการเฝ้าระวังและตรวจจับการระบาด ค้นหาผู้ป่วยให้ได้อย่าง
รวดเร็วและควบคุมโรคทันเวลา รวมทั้งลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด และควรเฝ้าระวังผู้ป่วยที่คล้ายไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบรุนแรงอย่างเข้มข้น
5. ผู้ป่วยที่เป็นติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจในช่วงนี้ ควรพักผ่อนอยู่กับบ้านให้มาก
หากจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีการเดินทางออกนอกบ้านหรือเดินทางไปต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ และหากเกิดอาการป่วยภายหลังการเดินทางให้รีบพบแพทย์
ปัญหาและข้อจำกัดในการสอบสวนโรค
การสอบสวนไข้หวัดใหญ่ในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้ยากต่อการสอบสวนโรค และการรายงานโรคล่าช้า ทำให้การออกสอบสวนโรคมีความล่าช้าด้วย
สรุปและอภิปรายผล
จากการศึกษาครั้งนี้ พบว่าผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 รายนี้ เป็นรายที่แรกของตำบล หนองใหญ่ ในปี 2552 อัตราป่วย 24.94 ต่อแสนประชากร
จากการสอบถามกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยทราบว่าผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่กลางวันไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนสตรีศึกษาร้อยเอ็ด กลางคืนและวันหยุดอยู่บ้านไม่ได้เดินทางไปไหน ช่วงก่อนหน้าประมาณ 1 เดือน พบว่ามีผู้ป่วยสงสัยที่โรงเรียนสตรีศึกษาร้อยเอ็ดป่วยด้วย โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 สภาพสิ่งแวดล้อมบ้านไม่ค่อยเป็นระเบียบเรียบร้อยมากนัก มีการเลี้ยงสัตว์ปีกไว้ในบริเวณบ้าน ไม่มีสัตว์ปีกป่วยหรือตาย จากการสอบสวนโรคครั้งนี้สามารถสรุปได้ว่าผู้ป่วยติดเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จริง จากการตรวจทางห้องปฏิบัติการTroat swab ได้ผล Positive สำหรับมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่ได้ให้ความรู้แก่ประชาชน ญาติ และ อสม.ประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคในพื้นที่ และเฝ้าระวังโรคในกลุ่มเสี่ยงในหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง 15 วัน
ข้อเสนอแนะ
1. เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยมีความวิตกกังวล กลัวตัวเองจะได้รับเชื้อจากผู้ป่วย และไม่มั่นใจในมาตรการที่มีอยู่ น่าจะมีการจัดประชุมชี้แจงแนวทางปฏิบัติสำหรับสำหรับ พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยไข้หวัดหวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1เอ็น1 ในระดับจังหวัด เพื่อสร้างความมั่นใจแก่เจ้าหน้าที่
2. CUP ควรมีการจัดประชุมชุมชี้แจงแนวทางการดูแล และรักษาผู้ป่วยไข้หวัดหวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1เอ็น1 แก่ จนท.สอ.
3. เอกสารข้อความ ข้อมูลเอกสารอ้างอิงในการให้ความรู้ไม่เพียงพอ ควรมีการจัดทำเพิ่มมากขึ้น
กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอศรีสมเด็จ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศรีสมเด็จ
เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยบ้านหนองใหญ่ ผู้ป่วยและญาติ อาสาสมัครสาธารณสุข บ้านดงขวาง หมู่ที่ 8 ที่ให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องประกอบรายงานการสอบสวนโรคในครั้งนี้
เอกสารอ้างอิง
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จ.ขอนแก่น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.หลักสูตรระบาดวิทยาประยุกต์สำหรับทีมเฝ้าระวังสอบสวนในหน่วยคู่สัญญาจัดบริการปฐมภูมิ .เอกสารประกอบการอบรม
วารสารกระทรวงสาธารณสุข สาร สธ. ปีที่ 6 ฉบับที่ 5 มิถุนายน-กรกฎาคม 2552 เรื่องการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ .สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น