วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553

เรื่องเล่า การดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกแบบมีส่วนร่วม

เรื่องเล่า การดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกแบบมีส่วนร่วม
หน่วยงาน สสอ.โพธิ์ประทับช้าง ผู้บันทึก นางขวัญธนา สุขโอสถ เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน 6
เป้าหมายการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกให้มีประสิทธิภาพ มีความต่อเนื่องโดยชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน
เรื่องเล่า
อำเภอโพธิ์ประทับช้างตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดพิจิตร ห่างจากจังหวัดประมาณ 24 กิโลเมตรได้รับการจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2510 และได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2516
สภาพพื้นที่ อำเภอโพธิ์ประทับช้างมีพื้นที่ประมาณ 378.56 ตารางกิโลเมตร พื้นที่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ไม่มีภูเขาและป่าไม้ในฤดูร้อนมักประสบปัญหาภัยแล้งและปัญหาการขาดแคลนน้ำ แต่ในฤดูน้ำหลากจะเกิดน้ำท่วมทุกปี มีแม่น้ำหลายสาย ได้แก่แม่น้ำยม และแม่น้ำพิจิตรเก่า ไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออกของพื้นที่ของอำเภอ แหล่งน้ำที่สำคัญได้แก่ คลองห้วยหอยคลองหนองขานาง คลองรุณ คลองแห้ง คลองบึงบ้าน และคลองหนองขำประชากรอำเภอโพธิ์ประทับช้างมีทั้งหมด 44,229 คน แบ่งเขตการปกครองเป็น 7 ตำบล จำนวน 98 หมู่บ้าน
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกอำเภอโพธิ์ประทับช้าง ปี 2542 - 2550
ปี พ.ศ. จำนวนผู้ป่วย อัตราป่วย / แสนประชากร
2542 8 17.97
2543 4 8.89
2544 103 230.33
2545 79 176.71
2546 80 178.74
2547 27 60.32
2548 18 40.35
2549 22 50.68
2550 41 92.69

ปี 2550 อำภอโพธิ์ประทับช้างมีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเป็นลำดับที่ 3 ของจังหวัดพิจิตร
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกอำเภอโพธิ์ประทับช้าง แยกรายตำบล ปี 2550 ( เดือน ม.ค. - ส.ค. 2550 )

ตำบล จำนวนผู้ป่วย
โพธิ์ประทับช้าง 7
ไผ่ท่าโพ 11
วังจิก 1
ไผ่รอบ 2
ดงเสือเหลือง 10
เนินสว่าง 6
ทุ่งใหญ่ 4
พื้นที่เสี่ยงของอำเภอโพธิ์ประทับช้าง ปี 2550 พบว่าใน 7 ตำบลที่รับผิดชอบ ตำบลที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้เลือดออก มีทั้งหมด 5 ตำบล ดังนี้
1. ตำบลดงเสือเหลือง หมู่ที่ 2,3,9 และ 12
2. ตำบลไผ่ท่าโพ หมู่ที่ 1,3,4 และ 6
3. ตำบลทุ่งใหญ่ หมู่ที่ 1,4,5,6,8,9,10,11 และ 15
4. ตำบลโพธิ์ประทับช้าง หมู่ที่ 1,4,7,8,9และ 10
5. ตำบลไผ่รอบ หมู่ที่ 2,3,4,7,9,10,12 และ 17
การดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกของอำเภอโพธิ์ประทับช้าง
1. มีการแต่งตั้งคณะกรรมการทีมงานดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคติดต่อ ( SRRT ) ระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน
2. จัดทำโครงการควบคุมป้องกันไข้เลือดออกระดับอำเภอ ( จ้างแกนนำ อสม. ระดับอำเภอสุ่มสำรวจลูกน้ำยุงลายทุกหมู่บ้าน 4 ครั้ง / ปี )
3. มีการประสานแผนการรณรงค์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อ จัดเตรียมสิ่งสนับสนุนในการดำเนินงาน
4. มีศูนย์ข้อมูลอยู่ที่โรงพยาบาลโพธิ์ประทับช้าง เพื่อประสานงานด้านข้อมูลข่าวสาร
5. มีการวิเคราะห์สถานการณ์โรคไข้เลือดออกร่วมกับ เจ้าหน้าที่สถานีอนามัย และชุมชน กรณีมีการระบาดในพื้นที่
6. มีเครือข่ายให้การสนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาเมื่อเกิดการระบาดของโรค ได้แก่ อบต. , เทศบาล , อบจ. , รพ. , สสจ. , ศตม. ,ทีม SRRTแกนนำ อสม. และศคร. เพื่อร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมแก้ปัญหา
7. ทำโครงการอบรมให้ความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกและ ความรู้เรื่องอุปกรณ์การพ่นสารเคมี แก่เจ้าหน้าที่และแกนนำ อสม. ในการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกในพื้นที่เสี่ยง คงดำเนินงานตามปกติที่ทำกันมา แต่จะเน้นในเรื่องการประชาสัมพันธ์การประสานงานกับเครือข่ายในเรื่องวัสดุควบคุมโรค และ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง

อำเภอโพธิ์ประทับช้างจึงขอยกตัวอย่างในการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกในตำบลไผ่ท่าโพ หมู่ที่ 5บ้านเนินทอง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีไข้เลือดออกมากที่สุดในตำบลไผ่ท่าโพ ประจำปี 2550
สภาพทั่วไปของตำบลไผ่ท่าโพส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำยม ทั้ง 2 ฝั่ง ช่วงฤดูฝนมีน้ำท่วมขังทุกปี ประชาชนส่วนใหญ่จะปลูกบ้านชั้นเดียวยกพื้นสูง เนื่องจากมีน้ำท่วม และกักเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในช่วงน้ำท่วม จึงมีภาชนะกักเก็บน้ำเยอะมาก ครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว และปลูกบ้านใกล้กันอยู่กันเป็นเครือญาติ สภาพความเป็นอยู่ บ้านเรือนตั้งอยู่รวมกันค่อนข้างหนาแน่น ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาปรัง ปีละ 2 ครั้ง
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกตำบลไผ่ท่าโพ ปี 2546 - 2550
หมู่บ้าน จำนวนผู้ป่วย
ปี 2546 ปี 2547 ปี 2548 ปี 2549 ปี 2550
ไผ่ท่าโพเหนือ 0 1 1 0 1
ลำนัง 0 1 0 0 0
ไผ่ท่าโพใต้ 1 0 3 0 0
วังปลากด 1 0 0 0 3
เนินทอง 0 1 0 0 5
เนินยาง 0 1 0 0 0
ไผ่พัฒนา 1 0 0 0 0
วัดใหม่แสงมรกต 0 0 0 0 0
ไผ่ท่าโพ 0 0 0 0 2
ลำนัง 0 0 0 0 0
รวม 3 4 4 0 11


จากการวิเคราะห์ผู้ป่วย หมู่ที่ 5 บ้านเนินทอง เป็นผู้ป่วยในเดือน มิถุนายน - กรกฎาคม 2550 ซึ่งเป็นช่วงมีน้ำท่วมขังจากฝนตกหนักตลอดเดือน และบ้านผู้ป่วยอยู่ในละแวกเดียวกัน กลุ่มอายุในช่วง 10 - 14 ปี เรียนอยู่ในโรงเรียนไผ่ท่าโพใต้เดียวกัน จึงมีการควบคุมทั้งในหมู่บ้าน วัด และโรงเรียนควบคู่กันไปด้วย
การดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก
1. มีทีมงานควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ
2. มีการรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกบ่ายวันศุกร์ และ ทุด 3 เดือนโดย อสม.
3. เมื่อได้รับแจ้งมีผู้ป่วยไข้เลือดออก ดำเนินการลงไปควบคุม สอบสวนโรค
4. จัดทำประชาคมหมู่บ้าน เนื่องจากมีผู้ป่วย 2 รายขึ้นไป
5. จัดตั้งกฏ กติกา มาตรการควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่
- พบลูกน้ำต้องกำจัดทันที
- ถ้าพบลูกน้ำบ้านใครให้ปรับเป็นเงิน ครั้งละ 20 บาท
- ออกหอกระจายข่าวประกาศบ้านที่พบลูกน้ำและชมเชยบ้านที่ไม่พบลูกน้ำยุงลาย
- ตั้งคณะกรรมการควบคุมโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ หมู่ที่ 5 บ้านเนินทอง ประกอบด้วย ตัวแทนประชาชน ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ( เทศบาล ) ตัวแทนข้าราชการในหมู่บ้าน ( ครู ) นักประชาสัมพันธ์ท้องถิ่น
6. จัดทำแผนแบบมีส่วนร่วม ประกอบด้วย อสม. ประชาชน ครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อบต. และ เทศบาล
ในการลงไปควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกหมู่ที่ 5 บ้านเนินทอง การดำเนินงานทำตามระบบทุกขั้นตอนเป็นจำนวน 4 ครั้งแต่ก็ยังพบค่า HI , CI สูงอยู่ และพบผู้ป่วยอยู่ จึงมีการประสานงานกับเครือข่ายออกสำรวจ ครั้งที่ 5 ขึ้น ซึ่งทีมงานประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ประจำสถานีอนามัยตำบลไผ่ท่าโพ แกนนำ อสม. ทีม SRRT ระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และเทศบาล ผลการสำรวจยังพบลูกน้ำยุงลาย หลังจากสำรวจเสร็จจึงมีการประชุมกลุ่มเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา อุปสรรค ซึ่งปัญหาที่พบคือยังพบลูกน้ำยุงลายอยู่ส่วนมากพบในเศษขยะจำพวก กล่องพลาสติกใส่อาหาร แก้วน้ำพลาสติก ภาชนะเหลือใช้ กระถางต้นไม้และสภาพพื้นที่สิ่งแวดล้อมยังรก และสกปรกมาก ซึ่งเอื้อต่อการเกิดโรคไข้เลือดออก รวมถึงจากการซักถามจากชาวบ้านพบว่าชาวบ้านยังขาดความตระหนัก ขาดความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก ขาดความเข้าใจในเรื่องการใส่ทรายเทมีฟอส และขาดความเชื่อถือในตัว อสม. ส่วนในเรื่องตัว อสม. พบปัญหา อสม.บางละแวกไม่ให้ความร่วมมือ บางคนออกสำรวจไม่ใช้ไฟฉาย และบางคนสุขภาพดวงตาไม่ปกติมองไม่ค่อยเห็นลูกน้ำยุงลายจึงทำให้พลาดในการสำรวจ
ทีมงานจึงได้วางแผนแก้ปัญหาโดยจัดเตรียมอุปกรณ์ในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ ไฟฉาย ถุงดำ ทรายเทมีฟอส และ ได้นัดหมายกลุ่มแกนนำ อสม. ทีม SRRT ระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเขตอำเภอโพธิ์ประทับช้าง คณะครู - อาจารย์นักเรียน พร้อมประสานงานกับทีมงานควบคุมโรค สสจ. พิจิตร เทศบาล อบต. และ อบจ. ออกควบคุมป้องกันโรค ทำลายแหล่ง เพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ครั้งที่ 6 ในวันที่ 10 สิงหาคม 2550ผลการสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ครั้งที่ 6 วันที่ 10 สิงหาคม 2550 ในหมู่ที่ 5 บ้านเนินทอง ทั้งหมู่บ้านพบว่าไม่พบลูกน้ำยุงลาย หลังจากการสำรวจมีการทำแผนร่วมกันเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกต่อไป
แหล่งข้อมูล ฝ่ายควบคุมโรค สสจ.พิจิตร , โรงพยาบาลโพธิ์ประทับช้าง , สำนักงานสาธารณสุขอำเภอโพธิ์ประทับช้างและสอ.ต.ไผ่ท่าโพ
สิ่งที่ภาคภูมิใจ ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายทุกส่วนเป็นอย่างดี ในการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมแก้ไขจึงทำให้ไม่เกิดโรคไข้เลือดออกตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550 เป็นต้นมา
สิ่งที่จะพัฒนาต่อไป
- ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
- ทำแผนที่การสำรวจลูกน้ำยุงลายในบ้านที่พบลูกน้ำยุงลายแต่ละครั้ง ( mapping )
- เมื่อเกิดโรคไข้เลือดออกรายแรก จะต้องมี พยาบาลประจำศูนย์สุขภาพชุมชนออกร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบหมู่ที่เกิดโรคออกสอบสวนโรค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น