ข่าวกรองเตือนภัยโรคไข้เลือดออก สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
ฉบับที่ 1/2552 วันที่ 14 กันยายน 2552
กลุ่มโรคติดต่อนำโดยแมลง
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช
ขณะนี้ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบนมีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสูงมากกว่าปกติ โดยมีรายงานผู้ป่วยตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2552 พบผู้ป่วย จำนวน 1,202 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 28.90 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน และมีผู้ป่วยเสียชีวิต จำนวน 1 ราย(พื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช) ซึ่งมีแนวโน้มสูงเกินกว่าค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี ในหลายพื้นที่ยังคงพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการระบาดของโรค และพบว่าในช่วงฤดูฝนเป็นช่วงที่มักพบผู้ป่วยสูงมากกว่าปกติ
ปัจจัยเอื้อที่สนับสนุนให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคสูงขึ้น
• ปัจจัยเสี่ยงด้านเชื้อโรค(การเปลี่ยนแปลงซีโรทัยป์)
รายงานการตรวจหาซีโรทัยป์ไวรัสไข้เลือดออก ระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2552 พบสัดส่วนซีโรทัยป์เดงกี่ของผู้ป่วยในพื้นที่ภาคใต้ ดังนี้ ซีโรทัยป์ 1, 2, 3 และ 4 เท่ากับ 63.6 %, 4.5 %, 31.8 % และ 0 % ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับภาพรวมของประเทศ ซึ่งพบรายงานซีโรทัยป์ 1, 2, 3 และ 4 เท่ากับ 58.1 %, 18.5 %, 21.0 % และ 2.4 % ตามลำดับ และพบว่าแนวโน้มในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาสัดส่วนซีโรทัยป์ 3 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และพบรายงานซีโรทัยป์ 3 สูงสุด เมื่อปี พ.ศ.2543 ซึ่งผ่านมาเป็นเวลา 9 ปี ทำให้คาดการณ์ได้ว่าเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี มีโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยสูงขึ้น
• ปัจจัยด้านแมลงพาหะนำโรค
ผลการสุ่มสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในพื้นที่เขตเมือง และชนบท พบว่ามีค่าดัชนีความชุกชุมของลูกน้ำยุงลาย หรือ HI สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดของประเทศไทย คือร้อยละ 10 ทั้งในพื้นที่เขตเมืองและชนบท นับเป็นปัจจัยเอื้อต่อการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก สามารถทำให้เพิ่มโอกาสต่อการติดเชื้อและจากการศึกษาชีววิทยาและอัตราการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ในยุงพาหะนำโรคไข้เลือดออก ในช่วงปี พ.ศ.2548- 2552 โดย ดร.อุษาวดี และคณะ พบว่ามีอัตราการติดเชื้อในยุงได้ตั้งแต่ 7- 67 %
การเร่งรัดเพื่อการปรับมาตรการป้องกันควบคุมโรค
1. เร่งรัดเฝ้าระวังโรคในกลุ่มเด็กเล็กและวัยเรียน และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
2. เร่งรัดกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านเรือน ชุมชน ศาสนสถานและสถานที่สาธารณะ
ภาคผนวก
เอกสารอ้างอิง
กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร. ภาพแผนที่แสดงผลการวิเคราะห์ข้อมูล
อุตุนิยมวิทยา.(http://www.tmd.go.th2)
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. รายงานการตรวจหาซีโรทัยป์ไวรัสไข้เลือดออก.
(http://www.cdts.org/dengue)
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 จังหวัดนครศรีธรรมราช กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. รายงาน
สถานการณ์โรคไข้เลือดออก.(http://dpc11.ddc.moph.go.th)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น