วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553

ปิดเปลี่ยนปล่อยปรับปรุงสิ่งแวดล้อม

{ ปิด-เปลี่ยน-ปล่อย-ปรับปรุง สิ่งแวดล้อม }

ในทุก ๆ ปีเมื่อย่างเข้าสู่หน้าฝนทีไรคนไทยต้องผจญกับเรื่องโรคภัยไข้เจ็บมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ มหันตภัยจากโรคไข้เลือกออกที่ในแต่ละปีได้คร่าชีวิตคนไทยไปจำนวนไม่น้อย

ปัญหาเรื่องโรคไข้เลือดออกไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่ทุกปีประเทศไทยจะต้องประสบปัญหาการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจาก สถิติผู้ป่วยในเขตอำเภอตะพานหินปี 2550 พบ 76 ราย ปี 2551 พบ 167 ราย ผู้ป่วยในเขตเทศบาลปี2550 พบ 20 ราย ปี 2551 พบ 49 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งพบอัตราการป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และน่ากลัวเพิ่มมากขึ้นก็คือ ผู้ป่วยไม่ได้มีเฉพาะแค่เด็ก ๆ เท่านั้น??? ซึ่งจากสถิติข้อมูลที่พบปรากฏว่า ผู้ใหญ่ได้กลายเป็นเหยื่อของโรคไข้เลือดออกมาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเดิมที่จะเป็นในเฉพาะเด็ก เล็ก ๆ เท่านั้น
หากไม่มีการป้องกันที่ดีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคนี้จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน !??!
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมของทุก ๆ ปี ซึ่งถือเป็นช่วงที่ไข้เลือดออกจะระบาดสูงที่สุด
นายแพทย์กิตติโชติ ตั้งกิตติถาวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน กล่าวถึงสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของสถิติไข้เลือดออกในปีนี้ว่า เกิดจากหน้าฝนที่มาเร็วกว่าปกติและจากปรากฏการณ์ เอลนิโญ หรือภาวะโลกร้อน ส่งผลให้โรคไข้เลือดออกระบาด ได้ดีขึ้น เนื่องจากโรคไข้เลือดออกนั้นมีเชื้อไวรัสเด็งกี่ เป็นสาเหตุ และมียุงลายเป็นแมลงนำโรค ซึ่งเมื่อสภาวะอุณหภูมิที่อุ่นขึ้นกว่าปกติช่วยทำให้การแบ่งตัวและเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสดีขึ้นอย่างชัดเจน รวมทั้งการเจริญเติบโตของยุงลายก็ดียิ่งขึ้น จึง ทำให้มีเชื้อและยุงในชุมชนมากขึ้น โอกาสการแพร่เชื้อก็มีมากขึ้น ประกอบกับในภาวะภัยแล้งขาดแคลนน้ำ ประชาชนมักจะกักเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภค บริโภคเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็เป็นการเพิ่มแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายมากขึ้นอีกทางหนึ่ง

“ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่ายุงที่อยู่ตาม ท่อระบายน้ำเป็นยุงลาย รอให้เจ้าหน้าที่มาพ่นหมอกควันฆ่ายุง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเพราะยุงตามท่อระบายน้ำเป็นยุงรำคาญ ไม่ใช่ยุงลายที่เป็นสาเหตุโรคไข้เลือดออก ยุงลายจะอยู่ในบ้านชอบกัดคนเวลากลางวัน แต่ในกลางคืนก็อาจกัดได้ หากยังกินเลือดไม่อิ่ม ส่วนการเพาะพันธุ์จะอาศัยน้ำสะอาด ใส ที่ขังนิ่งตามภาชนะต่าง ๆ ในบริเวณบ้าน”

ในบางครั้งเราไม่สามารถป้องกันยุงลายไม่ให้กัดได้ วิธีการที่ง่ายและได้ผลดีที่สุดในการป้องกันการตกเป็นเหยื่อโรคนี้ก็คือ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเพื่อไม่ให้มีที่วางไข่ขยายพันธุ์แล้วมากัดคนจนเป็นโรค ซึ่งการหมั่นคอยตรวจ สำรวจ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุก 7 วันอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ทุกคนในบ้านและชุมชนลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นไข้เลือดออกได้

อย่างไรก็ตามการสกัดกั้นภัยร้ายจากยุงลายและการระบาดของโรคไข้เลือดออกนั้นจะต้องมาจากความร่วมมือของคนในชุมชนด้วยการป้องกันปัญหาจากต้นเหตุนั้นก็คือ การลดการเกิดและขยายพันธุ์ของยุงลาย

ทั้งนี้ทางโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน ขอเชิญชวนร่วมรณรงค์ลดการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในชุมชน โดยให้ทุกคนในชุมชนร่วมกันปฏิบัติตามหลัก 4 ป. ซึ่งก็คือ
1.ปิด หากภายในบ้านมีโอ่ง ให้ปิดฝาโอ่งให้มิดชิด โอ่งที่ไม่ได้ใช้ ให้คว่ำไว้เพื่อป้องกันการเพาะพันธุ์ของยุงลาย
2.เปลี่ยน ต้องหมั่นเปลี่ยน น้ำในแจกันดอกไม้ หรือขาตู้กับข้าว ทุก ๆ สัปดาห์ ใส่เกลือแกง หรือน้ำส้มสายชูเพื่อป้องกันการวางไข่ของยุงลาย
3. ปล่อย หากเป็นไปได้ให้ปล่อยและเลี้ยงสัตว์ประเภทต่าง ๆ ที่กินลูกน้ำยุงลายเป็นอาหาร อาทิ ปลาหางนกยูง ในโอ่งน้ำ บ่อน้ำ หรืออ่างบัว และ
4.ปรับปรุง ให้ทุกบ้านในชุมชนปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในบ้านและบริเวณบ้านไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายไม่ว่าจะเป็นถังขยะ ขวดน้ำหรือแก้วน้ำพลาสติก กระถางต้นไม้ หรือภาชนะต่าง ๆ ที่อาจทำให้มีน้ำขังโดยเฉพาะในช่วงฝนตก

ทั้งนี้โดยปกติยุงลายจะกัดคนในเวลากลางวัน และเฉพาะยุงลายตัวเมียเท่านั้นที่จะดูดเลือดคนเพื่อนำโปรตีนในเลือดไปเลี้ยงไข่ ซึ่งยุงลายตัวเมีย 1 ตัวจะสามารถวางไข่ได้ถึง 100 ฟอง อย่างไรก็ตามการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด ทำได้หลายวิธี เช่น กางมุงเวลานอนแม้จะเป็นตอนกลางวัน หรือติดมุงลวดในบ้าน หรืออาจนำพืชสมุนไพรที่สามารถไล่ยุงได้มาใช้ อาทิ ตะไคร้หอม กระเทียม ใบแมงลัก กะเพรา สะระแหน่ ใบและผลมะกรูด ฯลฯ

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การเฝ้าระวังคนในครอบครัวและชุมชน ซึ่งหากพบผู้ป่วยที่สงสัยเป็นไข้เลือดออก จะต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วให้แพทย์ดูแลรักษาทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิต นอกจากนี้จะต้องรายงานทางสาธารณสุขเพื่อให้ส่งเจ้าหน้าที่หน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่เพื่อควบคุมแหล่งแพร่เชื้อภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้โรคระบาดในวงกว้าง

“ยุงตัวเล็ก ๆ” แต่หากเกิดการระบาดของโรค เรื่องเล็ก ๆ ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ การร่วมมือช่วยกันป้องกัน โดยเริ่มจากบ้านของตนเองก่อน จะมีส่วนช่วยสกัดกั้นภัยร้ายจากยุงลายและโรคไข้เลือดออกได้ !?!.
ด้วยมาตรการ 4 ป. ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม

“ยุงตัวเล็ก ๆ” แต่หากเกิดการระบาดของโรค เรื่องเล็ก ๆ ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ การร่วมมือช่วยกันป้องกัน โดยเริ่มจากบ้านของตนเองก่อน จะมีส่วนช่วยสกัดกั้นภัยร้ายจากยุงลายและโรคไข้เลือดออกได้ ?
ด้วยมาตรการ 4 ป.
ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น