การศึกษาเรื่อง วิถีชีวิตชุมชนมุสลิมกับการป้องกันโรคไข้เลือดออก
นายอนันต์ พระจันทร์ศรี นางตวงพร ศรีสวัสดิ์ นายจิระพัฒน์ เกตุแก้ว
บทคัดย่อ ศาสนาอิสลามเข้าสู่ประเทศไทยประมาณปี ค.ศ. 1450 ปัจจุบันมีประชากรมุสลิมประมาณ 7,000,000 คน ส่วนใหญ่อยู่กันเป็นกลุ่ม กระจายทั่วประเทศ การดำเนินชีวิตมีลักษณะเฉพาะ การศึกษาวิถีชีวิตชุมชนมุสลิมเพื่อการป้องกันโรคไข้เลือดออก วัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษาถึงความรู้ ความเชื่อ วิธีการควบคุมกำจัดยุงลาย และวิถีชีวิตแบบมุสลิม วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้นำทางศาสนา สอบถามประชาชน ประชุมกลุ่ม และการสังเกต พื้นที่ศึกษา จำนวน 6 หมู่บ้าน ในอำเภอเมือง จังหวัดสตูล ผู้ให้ข้อมูลจำนวน 140 คน ระยะเวลา ดำเนินการ ระหว่างเดือนมีนาคม 2548 – กันยายน 2549
ผลการศึกษา พบว่าผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุเฉลี่ย 39 ปี จบการศึกษา ป.6 มีอาชีพรับจ้างและตัดยาง มีบทบาทในชุมชนเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข มีความรู้เรื่องไข้เลือดออกในระดับดี โดยเฉพาะพาหะนำโรค แต่ยังสับสนเรื่องแหล่งเพาะพันธุ์ ด้านความเชื่อ เชื่อว่าการฆ่ายุงตัวเต็มวัยสามารถทำได้ เพราะยุงนำโรคที่ทำให้เป็นอันตรายกับชีวิต จึงไม่ขัดกับหลักศาสนา วิธีการควบคุมกำจัดยุงลาย มีการป้องกันยุงกัด โดยนอนในมุ้ง ใช้พัดลม และไล่ยุงโดยเผากะลามะพร้าว ใส่น้ำมันสนหรือน้ำมันเครื่อง ตะไคร้หอม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้ทั่วไปในหมู่บ้าน การเก็บกักน้ำ ในหมู่บ้านที่มีประปาจะนิยมใช้น้ำจากท่อส่งน้ำโดยตรง ส่วนบ้านที่ไม่มีประปา จะกักเก็บน้ำใช้ในโอ่งมากกว่าภาชนะอื่น มีการปิดฝาโอ่งเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกมากกว่าที่จะคำนึงว่าเป็นการป้องกันยุงวางไข่ ไม่นิยมใช้ทรายกำจัดลูกน้ำ เนื่องจากเชื่อว่าจะทำให้น้ำสกปรก (นายิส) เพราะสารเคมีทำให้น้ำมีสี กลิ่นรส เปลี่ยนไป ด้านวิถีชีวิตแบบมุสลิม ต้องใช้น้ำดำรงชีวิตวันละหลายเวลา เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทำความสะอาดร่างกายก่อนไปทำละหมาด ให้ความสำคัญด้านการเรียนรู้เรื่องทางศาสนามากกว่าการเล่าเรียนในสายสามัญตั้งแต่ปฐมวัย ดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของศาสดา เน้นข้อห้ามอย่างเคร่งครัด โดยอิหม่ามและผู้นำศาสนาเป็นผู้เชื่อมโยงและผลักดันให้ดำเนินกิจกรรม ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับหลักการของศาสนามีการดำเนินชีวิตเช่นเดียวกับชุมชนอื่น
ดังนั้น การทำกิจกรรมกับชุมชนมุสลิมให้ประสบผล ต้องสร้างความไว้วางใจกับประชาชนมุสลิม ด้องได้รับการยอมรับจากผู้นำทางศาสนาในพื้นที่ เป็นสิ่งที่ไม่ขัดต่อหลักปฏิบัติทางศาสนา กิจกรรมต่าง ๆ ต้องมีหลักฐานประกอบที่เชื่อถือได้ ไม่มีพิธี ขั้นตอนและเวลาที่มากเกินไป จึงจะสร้างความเชื่อมั่นและได้รับความร่วมมืออย่างดี ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้นและสร้างความยั่งยืนได้
วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น