ในปี พ.ศ.2550 สำนักระบาดวิทยา ได้รับรายงานผู้ป่วยจำนวน 65,581 ราย อัตราป่วย 104.21 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 95 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.14 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2541 - 2550) อัตราป่วยสูงสุดในปี พ.ศ.2544 (224.3 ต่อประชากรแสนคน) รองลงมา ปี พ.ศ.2541 (211.42 ต่อประชากรแสนคน) อัตราป่วยต่ำสุด ใน ปี พ.ศ.2543 (30.14 ต่อประชากรแสนคน) และอัตราป่วยลดลง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 - 2547 เป็นต้นมา และเริ่มสูงขึ้นอีกในปี พ.ศ.2548 - 2550 (รูปที่ 1)
การกระจายการเกิดโรคไข้เลือดออกตามกลุ่มอายุ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 0 - 24 ปี อัตราป่วยสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 10 -14 ปี (399.25 ต่อประชากรแสนคน) รองลงมา คือ กลุ่มอายุ 5 - 9 ปี, 15 - 24 ปี, 0 - 4 ปี, 25 - 34 ปี และ 35 ปีขึ้นไป อัตราป่วย เท่ากับ 315.57, 172.24, 109.47, 54.50 และ 18.02 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ (รูปที่ 2)
โรคไข้เลือดออกจำแนกตามกลุ่มอาการได้ 3 กลุ่ม คือ Dengue Fever (DF), Dengue Haemorhagic Fever (DHF) และ Dengue Shock Syndrome (DSS) ในปี พ.ศ.2550 มีสัดส่วนของผู้ป่วยตามกลุ่มอาการดังนี้ ผู้ป่วยไข้เดงกี่ (DF) 25,446 ราย (ร้อยละ 38.80) ผู้ป่วยไข้เลือดออก (DHF) 39,053 ราย (ร้อยละ 59.55) ผู้ป่วยไข้เลือดออกช็อก (DSS) 1,082 ราย (ร้อยละ 1.65) โดยรวมสัดส่วนผู้ป่วยไข้เดงกี่เพิ่มขึ้น สัดส่วนผู้ป่วยไข้เลือดออก และไข้เลือดออกช็อกลดลง แต่เพิ่มจากปี พ.ศ.2549 เล็กน้อย (รูปที่ 3)
อัตราส่วนเพศหญิงต่อเพศชาย เท่ากับ 1 : 1.1 ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน ร้อยละ 50.60 รองลงมา คือ อาชีพรับจ้าง ร้อยละ 13.50 และเกษตรกรรม ร้อยละ 5.07 เป็นผู้ป่วยนอก ร้อยละ 17.40 ผู้ป่วยใน ร้อยละ 82.58 และไม่ระบุ ร้อยละ 0.02 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลชุมชนมากที่สุด ร้อยละ 40.99 รองลงมา คือ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลในกรุงเทพมหานคร และคลินิก สถานีอนามัย ร้อยละ 25.56, 15.24, 12.50, 4.72 และ 0.99 ตามลำดับ เป็นผู้ป่วยต่างชาติ ร้อยละ 0.89 สัญชาติพม่ามีสัดส่วนสูงสุด ร้อยละ 0.75 รองลงมา คือ ลาว กัมพูชา และจีน ร้อยละ 0.07, 0.06, 0.01 ตามลำดับ และอื่น ๆ ไม่ระบุ ร้อยละ 0.19
กลุ่มผู้ป่วยไข้เดงกี่ (DF) เสียชีวิต 2 ราย (ร้อยละ 2.10) กลุ่มผู้ป่วยไข้เลือดออก (DHF) เสียชีวิต 34 ราย (ร้อยละ 35.79) ผู้ป่วยไข้เลือดออกช็อก (DSS) เสียชีวิต 59 ราย (ร้อยละ 62.11) อัตราป่วยตายกลุ่มผู้ป่วยไข้เดงกี่(DF ) ร้อยละ 0.01 กลุ่มไข้เลือดออก (DHF) ร้อยละ 0.09 กลุ่มไข้เลือดออกช็อก (DSS) สูงสุด ร้อยละ 5.45
ในภาพรวมของประเทศ การกระจายของโรคยังคงเป็นไปตามฤดูกาล คือ พบผู้ป่วยจำนวนมากในช่วงฤดูฝน ระหว่าง เดือนพฤษภาคม - สิงหาคม (รูปที่ 4)
ภาคใต้ มีอัตราป่วยสูงสุด 137.96 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ ภาคกลาง 129.34 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 83.05
และภาคเหนือ 73.25 ต่อประชากรแสนคน อัตราป่วยย้อนหลัง 5 ปี พบว่า ภาคกลาง และภาคใต้ มีอัตราป่วยสูงกว่าภาคอื่น ยกเว้นปี พ.ศ. 2549 ภาคใต้กลับมีอัตราป่วยต่ำสุด (รูปที่5)
จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูง 10 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นจังหวัด ในภาคกลาง เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ชุมพร ระยอง นนทบุรี นราธิวาส จันทบุรี สมุทรสงคราม สุรินทร์ และปัตตานี (รูปที่ 6) ผู้ป่วยอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ร้อยละ 68.8 เขตเทศบาล ร้อยละ 31.2
จากรายงานการสอบสวนโรคไข้เลือดออกที่สำนักระบาดวิทยาได้รับในปี พ.ศ.2550
1. จากรายงานการสอบสวนโรคไข้เลือดออกที่เสียชีวิต ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จำนวน 21 ราย พบว่า ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ไอเล็กน้อย บางรายมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร ผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน ระยะแรกผู้ป่วยมักจะไปซื้อยารับประทานเอง รักษาที่สถานีอนามัย หรือคลินิกทางการแพทย์ บางรายจะเปลี่ยนคลินิกทางการแพทย์ถึง 4 แห่ง และไปรักษาคลินิกทางการแพทย์ สลับกับ สถานีอนามัย ในระยะ 1 - 10 วันของการป่วย และได้ไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาล อาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยบางรายเริ่มมีอาการความดันโลหิตต่ำ ชักเกร็ง อาเจียนเป็นเลือด จ้ำเลือด เลือดออก และมีภาวะช็อก ทำให้เสียชีวิต และผู้ป่วยจะเสียชีวิต ตั้งแต่วันที่ 4 – 16 นับตั้งแต่มีอาการ ส่วนใหญ่จะเสียชีวิตในวันที่ 4 – 9
2. มีรายงานการสอบสวนโรค ที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 13 พฤษภาคม ถึงต้นเดือนมิถุนายน 2550 พบการระบาด ตำบลแม่ไร่ มีผู้ป่วย 103 ราย และที่ตำบลป่าดึง 3 ราย เก็บตัวอย่างโลหิตผู้ป่วยส่งตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จังหวัดเชียงราย ด้วยวิธี Elisa พบแอนติบอดีย์ ชนิด IgM ต่อเชื้อเด็งกี่ไวรัส และพบว่าเป็นเด็งกี่ไวรัส type 1 ร้อยละ 50
ผลการตรวจยืนยันการติดเชื้อ Dengue virus โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งหมด 5,626 ราย พบผลยืนยันการติดเชื้อ Dengue virus ร้อยละ 72.8 ผลลบ ร้อยละ 11.7 และไม่สามารถสรุปผลได้ ร้อยละ 15.5 ที่แยกเชื้อได้ 2,302 ราย พบDengue serotype 1 มากที่สุด ร้อยละ 60.9 รองลงมา คือ serotype 3, 2 และ 4 ร้อยละ 14.9, 12.5 และ 11.7 ตามลำดับ
จำแนกการตรวจพบ Dengue serotype ตามภาค ได้ดังนี้ ภาคเหนือ พบ serotype 1, 4, 2 และ 3 ร้อยละ 64.8, 18.7, 11.3 และ 5.2 ตามลำดับ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบ serotype 1, 2, 3 และ 4 ร้อยละ 69.6, 13.2, 9.7 และ 7.5 ตามลำดับ ภาคกลาง พบ serotype 1, 3, 2 และ 4 ร้อยละ 54.8, 22.9, 11.9 และ 10.4 ตามลำดับ ภาคใต้ พบ serotype 1, 2, 4 และ 3 ร้อยละ 56.1, 17.7, 13.4 และ 12.8 ตามลำดับ
สรุปโดยรวมแล้ว รูปแบบการเกิดโรคไข้เลือดออกของประเทศไทยยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เช่น ลักษณะการเปลี่ยนแปลงตามเวลา ยังมีลักษณะเป็นตามฤดูกาล คือ มีผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน กลุ่มบุคคลเสี่ยงยังคงเป็นกลุ่มอายุ 0 - 14 ปี พบสัดส่วนของผู้ป่วยเด็งกี่ (DF) มากขึ้น ในขณะที่สัดส่วนของผู้ป่วยไข้เลือดออก (DHF) ลดลง การเกิดโรคตามพื้นที่พบกระจายทั่วทุกจังหวัด ในปี พ.ศ.2550 นี้ ภาคใต้มีอัตราป่วยสูงกว่าภาคอื่นๆ โดยภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ มีอัตราป่วยรองลงมา ตามลำดับ
ปี พ.ศ.2550 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากผู้ป่วยไข้เด็งกี่ 2 ราย ซึ่งโดยปกติแล้วไข้เด็งกี่ไม่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ น่าจะเป็นเพราะว่า เมื่อผู้ป่วยพบแพทย์ครั้งแรก แพทย์วินิจฉัยเป็นไข้เด็งกี่ แต่ต่อมาอาจจะพัฒนาเป็นไข้เลือดออกภายหลัง จึงเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต ดังนั้น กรณีเช่นนี้ ควรออกไปสอบสวน เมื่อพบสาเหตุแล้วเปลี่ยนแปลงรายงานจากไข้เด็งกี่เป็นไข้เลือดออก หรือไข้เลือดออกช็อคภายหลัง
ผู้เรียบเรียง
สมบุญ เสนาะเสียง สำนักระบาดวิทยา
วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น