วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่ออีกโรค

เรื่อง.. โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่ออีกโรคหนึ่งที่ไม่ควรจะมองข้ามในเวลานี้ เพราะว่า จังหวัดจันทบุรี ของเราเป็นเมืองที่มีฝนตกชุก มีแหล่งน้ำขังเป็นที่เพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะนำเชื้อไข้เลือดออกสามารถทำให้ท่านและลูกหลานของท่านเสียชีวิตได้ ถ้าหากไปพบแพทย์ไม่ทัน

ไข้เลือดออก เป็นโรคซึ่งมียุงลายเป็นตัวนำโรค โดยยุงลายไปกัดคนที่มีเชื้อไข้เลือดออก แล้วไปกัดคนอื่นอีกต่อหนึ่ง ดังนั้นเราต้องช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย เพื่อไม่ให้พวกเราทุกคนต้องสูญเสียชีวิต เงินทอง จากการป่วยเป็นไข้เลือดออก
อาการของไข้เลือดออก
1. มีไข้สูง ปวดศีรษะ
2. เบื่ออาหาร
3. ซึม อ่อนเพลียมาก
4. อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ หรือมีเลือดกำเดาออกมา
5. กระสับกระส่าย หน้าซีด ตัวเย็น

อาการสำคัญที่แตกต่างจากไข้หวัด คือ ไม่มีน้ำมูกหรือไอแต่จะปวดหัว และปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก ถ้าเป็น ไข้ธรรมดา ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว กินยาลดไข้ พาราเซตามอล เท่านั้น ห้ามกินยาอย่างอื่น ให้ดื่มน้ำตาลเกลือแร่หรือน้ำผลไม้ บ่อย ๆ สัก 2-3 วัน จะหายไข้ได้
ถ้าไข้ไม่ลด น่าสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก ให้รีบนำไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
การป้องกันตนเองจากไข้เลือดออก

เพื่อทำให้เราสามารถป้องกัน และดูแลตัวเองให้ห่างไกลยุงลายนั้น เราควรจะมารู้จักยุงลายให้มากสักหน่อย คือ
1. ยุงลายชอบวางไข่ในน้ำนิ่งมากที่สุด
2. ยุงลายชอบหากินในช่วงเวลากลางวัน และเวลาที่พบยุงลายบ่อยที่สุดคือ เวลาประมาณ 08.00-11.00 น.
และ 13.00-17.00 น.
3. ยุงลายมีชีวิตอยู่ได้ 45 วัน และเชื้อไวรัสไข้เลือดออกจะอยู่ในตัวยุงลายได้ตลอดชีวิต
4. ยุงลายสามารถนำเชื้อโรคมาสู่คนได้ทุกคนที่มันกัด

สิ่งที่คาดไม่ถึงเกี่ยวกับยุงลาย
1. ลูกน้ำกลายเป็นยุงลาย ภายใน 7 วัน
2. ยุงลายมีชีวิตอยู่ได้ 45 วัน บินหากินได้ไกลถึง 100 เมตร นำเชื้อโรคมาสู่คนได้ ทุกคนที่มันกัด
3. ไข้เลือดออก เป็นได้ตลอดปี เพราะแหล่งเพาะลูกน้ำพบได้ตลอดปี
4. คนที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก เป็นแล้วเป็นได้อีก ถ้าเป็นซ้ำ ๆ อาจทำให้มีอาการรุนแรง ถึงตายได้
5. ผู้ใหญ่เป็นไข้เลือดออก มักมีอาการรุนแรง และมีโอกาส ตายมากกว่าเด็ก

แหล่งเพาะพันธุ์ และการกำจัดลูกน้ำยุงลายในครัวเรือน
1. โอ่งน้ำ ต้องมีผ้ามุ้งมัดปากโอ่ง ปิดฝาอีกชั้นหนึ่ง
2. แจกันดอกไม้/ภาชนะใส่ไม้เลื้อย เปลี่ยนน้ำทุกสัปดาห์
3. ภาชนะใส่น้ำในห้องน้ำ ตักลูกน้ำทิ้ง หรือ ทำความสะอาดบ่อย ๆ หรือ ใส่ปลากินลูกน้ำ หรือ
ใส่ทรายอะเบท
4. จานรองขาตู้กับข้าว ต้องใส่เกลือ หรือน้ำส้มสายชู หรือ ผงซักฟอก หรือใส่น้ำเดือดทุก 7 วัน หรือ
ใส่ทรายอะเบท
5. จานรองกระถางต้นไม้ เทน้ำทิ้งทุกสัปดาห์ หรือ ใส่ทรายแทนน้ำ
6. บริเวณรอบบ้านเราตรงที่มีเศษภาชนะ/วัสดุ/ขยะ ร่องน้ำทิ้ง ถุงใส่ขยะ ถุงพลาสติก ใบไม้ใหญ่ที่น้ำขังได้
ต้องกำจัดขยะ หรือ ทำบ่อซึม กลบดินไม่ให้น้ำขัง ทำความสะอาดบริเวณบ้านทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง

ทำอย่างจึงจะควบคุมโรคไข้เลือดออกได้สำเร็จ
1. ทุกครัวเรือน ต้องลงมือกำจัดแหล่งเพาะยุงในบ้านของตนเองก่อน
2. แจ้งแต่ละบ้านให้เอาใจใส่ ลงมือทำในบ้านของตนเองทุกสัปดาห์ แล้วจึงร่วมมือกันทำในแต่ละคุ้ม
กลุ่มละแวกและที่สาธารณะ อย่างต่อเนื่องตลอดปี โดยทำในพื้นที่ที่เสี่ยงที่มียุงและลูกน้ำมาก
เป็นลำดับแรก เพื่อระวังไม่ให้เกิดโรค
3. ประสานงานและร่วมมือช่วยกันทำที่ วัด มัสยิด โรงเรียนศูนย์เด็กเล็ก ฯลฯ เพื่อทำลายแหล่งเพาะลูกน้ำ
ทุกสัปดาห์
4. ต้องดูแลและให้มีการดำเนินการทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่องตลอดปี เป็นการป้องกัน ไม่ให้ลูกน้ำในวัน
ข้างหน้าด้วย

บทความโดย…
กลุ่มงานวิชาการ/สสจ.จันทบุรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น