วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553

รายงานการสอบสวนโรคไข้เลือดออกตำบลหนองนาง

รายงานการสอบสวนโรคไข้เลือดออกตำบลหนองนาง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
วันที่ 10 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2552

1.ผู้รายงานและทีมสอบสวนโรค
นายคำนวณ ดวงดาวงษ์ ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ
นายสมควร ดวงจันทร์ ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ
นายประวัตร์ จันเทพา ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สถานีอนามัยตำบลหนองนาง
2.ทีมสอบสวนโรค
1.นายศิริชัย ชาติหนองทอน นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ
2. นายสุขวรรณ ชุติวัตรพงศธร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ
3. นายประวัตร์ จันเทพา นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ
4. นายนรงค์ สุขวาสนะ จพง. สาธารณสุขชุมชนชำนาญงาน
5. นางสาวละอองดาว จันทศิลป์ จพง. สาธารณสุขชุมชนปฎิบัติการ
6. นายจิรศักดิ์ รินทรามี จพง. สาธารณสุขชุมชนชำนาญงาน
7. นายนิรันดร์ ถาละคร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ
3.บทคัดย่อ
สถานีอนามัยตำบลหนองนางได้รับแจ้งจากศูนย์ระบาดอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ว่าพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องที่บ้านนาน้ำพาย หมู่ที่ 1 และ บ้านโนนสดใส หมู่ที่ 9 ตำบลหนองนาง ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว(SRRT)อำเภอท่าบ่อ จึงได้ออกสอบสวนและควบคุมโรคที่บ้านนาน้ำพาย หมู่ที่ 1 และ บ้านโนนสดใส หมู่ที่ 9 ตำบลหนองนาง พบผู้ป่วยจำนวน 5 ราย
เป็นผู้ป่วยชาย 3 ราย หญิง 2 ราย อายุน้อยที่สุด 5 ปี อายุมากที่สุด 21 ปี อายุเฉลี่ย 14 ปี ด้านอาชีพ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นนักเรียน ร้อยละ 80 ผู้ป่วยอาศัยอยู่ที่บ้านนาน้ำพาย หมู่ที่ 1 และบ้านโนนสดใสหมู่ที่ 9 ตำบลหนองนาง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกัน ผู้ป่วยรายแรกเริ่มป่วยวันที่ 26 มิถุนายน 2552 อาศัยอยู่ หมู่ที่ 9 ต.หนองนาง ผู้ป่วยรายสุดท้ายอาศัยอยู่หมู่ที่ 1 เริ่มป่วยวันที่ 7 มิถุนายน 2552 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการ ไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ร้อยละ 100 ปวดศีรษะ ร้อยละ 100 ปวดกล้ามเนื้อ
ร้อยละ 80 ผลการสำรวจลูกน้ำยุงลายในหมู่บ้านโดยอาสาสมัครสาธารณสุข พบค่า HI ร้อยละ 23.47 ในวัด CI = 25 ในโรงเรียน CI = 16.6 ดำเนินการควบคุมโรคโดยสำรวจแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในชุมชนป้องกันโรค ฉีดพ่นหมอกควันกำจัดตัวแก่ยุงลายครอบคลุมทุกหลังคาเรือน เฝ้าระวังการเกิดผู้ป่วยรายใหม่ในชุมชน
4.ความเป็นมา
วันที่ 9 มิถุนายน 2552 เวลา 10.35 น. สถานีอนามัยตำบลหนองนางได้รับแจ้งจากศูนย์ระบาดอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ว่าพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องที่บ้านนาน้ำพาย หมู่ที่ 1 และ บ้านโนนสดใส หมู่ที่ 9 ตำบลหนองนาง ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว(SRRT)
อำเภอท่าบ่อ จึงได้ออกสอบสวนและควบคุมโรคที่บ้านนาน้ำพาย หมู่ที่ 1 และ บ้านโนนสดใส หมู่ที่ 9 ตำบลหนองนาง โดยมีวัตถุเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค ยืนยันการระบาด หาสาเหตุหรือแหล่งโรค ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม และหาแนวทางการควบคุมป้องกันโรค

5.วัตถุประสงค์ของการเฝ้าระวัง
5.1เพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรค
5.2เพื่อหาสาเหตุและแหล่งการเกิดโรค
5.3เพื่อค้นหาผู้ป่วยและผู้สัมผัสโรครายใหม่เพิ่มเติม
5.4เพื่อหามาตรการ และดำเนินการควบคุมป้องกันโรคไม่ให้แพร่ระบาดต่อไป

6.วิธีการศึกษา
ศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา
- สัมภาษณ์ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วยทั้งในบ้านและชุมชนเดียวกัน ร่วมกับการเก็บข้อมูลจากการบันทึกทางการแพทย์ของผู้ป่วย
- ค้นหาผู้ที่มีอาการป่วยของโรคไข้เลือดออก ตามนิยามของสำนักระบาดวิทยา ซึ่งอาจพบเพิ่มเติมภายในครอบครัว ชุมชน
- ศึกษาข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง แหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลาย ที่อยู่อาศัย การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ
- โดยใช้แบบสอบสวนโรคไข้เลือดออก และแบบรายงานผลการควบคุมโรคไข้เลือดออก
- โดยใช้สถิติค่าดัชนีชี้วัด CI ,HI วิเคราะห์ข้อมูล
เครื่องมือที่ใช้ แบบสอบสวนผู้ป่วยเฉพาะราย โรคไข้เลือดออก ตามคู่มือนิยามโรค
ติดเชื้อประเทศไทย พ.ศ. 2544 , ทะเบียนผู้ป่วยเฉพาะโรค,แผนที่ทางภูมิสาสตร์พอสังเขป
7.ผลการสอบสวนโรค
ข้อมูลทั่วไปของชุมชน
บ้านนาน้ำพายหมู่ที่ 1 และบ้านโนนสดใส หมู่ที่ 9 ตำบลหนองนาง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสถานีอนามัยตำบลหนองนาง เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกัน มีจำนวนหลังคาเรือนรวมกันทั้งหมด 230 หลังคาเรือน ประชากร 1,147 ราย ชาย 576 ราย หญิง 571 ลักษณะชุมชนเป็นชุมชนชนบท มีหลังคาเรือนติดต่อกันอย่างหนาแน่น ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม รองลงคือรับจ้าง มีฐานะปานกลาง มีโรงเรียนระดับประถมศึกษาในหมู่บ้าน 1 โรง มีวัดในหมู่บ้าน 2 แห่ง
ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย
จากการสอบสวนโรคพบผู้ป่วยทั้งหมด 5 ราย เป็นผู้ป่วยชาย 3 ราย หญิง 2 ราย อายุน้อยที่สุด
5 ปี อายุมากที่สุด 21 ปี อายุเฉลี่ย 14 ปี ด้านอาชีพ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นนักเรียน ร้อยละ 80 ผู้ป่วยอาศัยอยู่ที่บ้านนาน้ำพาย หมู่ที่ 1 และบ้านโนนสดใสหมู่ที่ 9 ตำบลหนองนาง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดต่อกัน ผู้ป่วยรายแรกเริ่มป่วยวันที่ 26 มิถุนายน 2552 อาศัยอยู่ หมู่ที่ 9 ต.หนองนาง ผู้ป่วยรายสุดท้ายอาศัยอยู่หมู่ที่ 1 ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการ ไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ร้อยละ 100 ปวดศีรษะ ร้อยละ 100 ปวดกล้ามเนื้อ ร้อยละ 80 Tourniquet test พบผลบวกร้อยละ 80 ตับโตมักกดเจ็บ ร้อยละ 40 ปวดศีรษะ ร้อยละ มีผื่นแดง ร้อยละ 40 ไม่มีภาวะช็อก ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบ จำนวนเม็ดเลือดขาว น้อยกว่า 5,000 เซล/ ลูกบาศก์มิลลิเมตร ร้อยละ 100 เกล็ดเลือด น้อยกว่า 100,000 เซล/ ลูกบาศก์มิลลิเมตร ร้อยละ 100 ฮีมาโตคริต > 40 ร้อยละ 100
การค้นหาผู้สัมผัสร่วมบ้านและในชุมชน
ผลการค้นหา ในวันสอบสวนโรค วันที่ 10 มิถุนายน 2552 พบผู้ที่มีอาการคล้ายกับผู้ป่วย ในหมู่บ้าน จำนวน 2 ราย ส่งต่อเพื่อตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ จำนวน 2 ราย ผลการตรวจยืนยันปกติ
ผลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย
ผลการสำรวจลูกน้ำยุงลายในหมู่บ้านโดยอาสาสมัครสาธารณสุข พบค่า HI ร้อยละ 23.47
ในวัด ภาชนะสำรวจทั้งหมด 32 พบลูกน้ำ 8 CI = 25 ในโรงเรียน ภาชนะสำรวจทั้งหมด 12 พบลูกน้ำ 2 CI = 16.6





8.มาตรการควบคุมและป้องกันโรค
ทีม SRRT ทีมที่ 2 หลังจากได้รับแจ้งจากศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่ออำเภอ
ท่าบ่อ วันที่ 9 มิถุนายน 2552 แล้ว ได้ดำเนินการเร่งด่วนดังนี้
1. ขออนุมัติผู้บังคับบัญชานำทีมออกสอบสวนโรค
2. ประสานงานกับองค์การบริหารส่วนตำบลหนองนาง แจ้งผู้นำหมู่บ้านและดำเนินการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ให้ทราบว่ามีโรคระบาดเกิดขึ้นในหมู่บ้านพร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนในการดำเนินการควบคุมโรค
3. ทีม SRRT ออกสอบสวนโรค เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการวางแผนแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนและยั่งยืน
4. ดำเนินการร่วมกับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน สำรวจค่าดัชนีความชุกของลูกน้ำยุงลายโดยแยกเป็นคุ้มๆแต่ละคุ้มจะมีเจ้าหน้าที่ร่วม พร้อมทั้งกำจัดลูกน้ำยุงลาย ใส่ทรายเคลือบสาร และเทน้ำที่มีลูกน้ำทิ้งแล้วลางขัด รวมทั้งการปล่อยปลากินลูกน้ำ
5. ดำเนินการพ่นหมอกควันร่วมกับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน โดยพ่นหมอกควันบริเวณบ้านผู้ป่วยและบ้านใกล้เคียงรัศมี 100 เมตรก่อนหลังจากนั้นก็จะพ่นหมอกควันครบทุกหลังคาเรือนและพ่นซ้ำ อีกหลังจาก 1 สัปดาห์
6. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก และรู้จักป้องกันตัวเอง หากมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ไม่ไอ ไม่เป็นหวัดให้รีบไปตรวจที่จุดตรวจบริการเคลื่อนที่ในหมู่บ้าน หรือที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาล
9.วิจารณ์ผล
1. จากการสอบสวนผู้ป่วยทั้งหมด พบผู้ป่วยอาศัยอยู่ในพื้นที่ตำบลหนองนาง ผู้ป่วยรายแรกไม่ได้เดินทางมาจากนอกพื้นที่
2. สาเหตุของการระบาดของโรค น่าจะเกิดจากยุงที่มีเชื้อเดงกี่ไวรัส ที่อยู่บริเวณบ้านของผู้ป่วยผู้ป่วยกัดผู้ป่วย โดยจากการสำรวจค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายพบว่า ในหมู่บ้านมีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน และสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเป็นชุมชนที่อยู่กันแออัด บริเวณรอบบ้านมีน้ำขัง แสดงว่ามีภาวะเสี่ยงสูงต่อการระบาดของโรค
3. ลักษณะการระบาดของโรค เกิดผู้ป่วยรายแรกนำไปสู่ผู้ป่วยรายอื่นๆในชุมชน เป็นการระบาด
ในระยะที่สอง
10.ปัญหาและข้อจำกัด
1.การควบคุมโรคในผู้ป่วยรายแรกไม่ได้ผลเท่าที่ควรทำให้มีการระบาดในระยะที่สอง
2.เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลทำนาชาวบ้านไม่มีเวลาในการดูแลแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำในบ้าน
3.การปฏิบัติงานของ อสม.ไม่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากค่าตอบแทนไม่เพียงพอ
4. งบประมาณในการควบคุมโรคระบาดแต่ละครั้งไม่เพียงพอต้องอาศัยงบประมาณจากเงินสนับสนุนสาธารณสุขมูลฐานของหมู่บ้านซึ่งมีจำนวนจำกัด
5. เจ้าหน้าที่มีภาระงานมาก การเฝ้าระวังโรคจึงไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน
6. เครื่องพ่นหมอกควันเสียบ่อย อะไหล่เครื่องแพง เจ้าหน้าที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการบำรุงรักษา
11.สรุปผล
1.จากการสอบสวนโรคพบว่ามีการระบาดของโรคไข้เลือดออกเกิดขึ้นจริงที่ บ้านน้ำพาย หมู่ที่ 1
และบ้านโนนสดใสหมู่ที่ 9 ตำบลหนองนาง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย จริงจำนวน 5 ราย
2.ผู้ป่วยรายแรกมีการติดเชื้อในชุมชน มีการดำเนินการควบคุมโรคในผู้ป่วยรายแรกและ
มีการติดต่อสู่ผู้ป่วยรายอื่นในชุมชน ในช่วงระยะที่สอง
3. ผู้ป่วยทั้งหมด 5 ราย เป็นผู้ป่วยชาย 3 ราย หญิง 2 ราย อายุน้อยที่สุด 5 ปี อายุมากที่สุด 21 ปี อายุเฉลี่ย 14 ปี ด้านอาชีพ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นนักเรียน ร้อยละ 80
4.ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการ ไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ร้อยละ 100 ปวดศีรษะ ร้อยละ 100 ปวดกล้ามเนื้อ ร้อยละ 80 Tourniquet test พบผลบวกร้อยละ 80 ตับโตมักกดเจ็บ ร้อยละ 40 ปวดศีรษะ ร้อยละ มีผื่นแดง ร้อยละ 40 ไม่มีภาวะช็อก
5.ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบ จำนวนเม็ดเลือดขาว น้อยกว่า 5,000 เซล/ ลูกบาศก์มิลลิเมตร ร้อยละ 100 เกล็ดเลือด น้อยกว่า 100,000 เซล/ ลูกบาศก์มิลลิเมตร ร้อยละ 100 ฮีมาโตคริต > 40 ร้อยละ 100
6.ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในชุมชนสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน พบค่า HI ร้อยละ 23.47
ในวัด ภาชนะสำรวจทั้งหมด 32 พบลูกน้ำ 8 CI = 25 ในโรงเรียน ภาชนะสำรวจทั้งหมด 12 พบลูกน้ำ 2 CI = 16.6
12.ข้อเสนอแนะ
1. การใช้น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วใส่ลงภาชนะเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญและยุงลาย เช่น ท่อส้วมที่แตก ยางรถยนต์และยางรถจักรยานยนต์รวมทั้งภาชนะอื่นๆที่ปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและใช้ฆ่าลูกน้ำยุงได้
2. ควรดำเนินการจัดอบรมเจ้าหน้าที่เรื่องการสอบสวนโรค ที่ถูกหลักวิชาการ และขยายจำนวนให้มากขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่บางคนยังคิดว่าเป็นเรื่องที่ยากและยังหารูปแบบที่ดีที่สุดไม่ได้
3. การปล่อยปลากินลูกน้ำ ถือว่าเป็นวิธีที่ดีอย่างหนึ่ง และประหยัดงบประมาณได้มาก โดยส่วนใหญ่จะปล่อยในโอ่งน้ำ 2,000 ลิตรและภาชนะในห้องน้ำ ในภาชนะที่ใส่น้ำ ให้สัตว์ดื่ม โดยวิธีที่ดีที่สุดคือปล่อยปลาตัวผู้ 2 ตัว ปลาตัวผู้เพราะปลาตัวผู้ไม่ขยายพันธุ์และปล่อยครั้งละ 2 ตัว เพราะว่าปลาจะเดินเป็นคู่และจะมีเพื่อนแย่งอาหารกัน
4. ควรส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมซ่อมเครื่องและจัดงบประมาณไว้ซ่อมเครื่องพ่นหมอกควัน เพราะเครื่องพ่นหมอกควันจะเสียบ่อย และซ่อมยาก อะไหล่มีราคาแพง
5. ควรสร้างความตระหนัก ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการควบคุมและป้องกันโรค โดยใช้มาตรการทางกฎหมายหรือข้อบังคับขององค์การบริหารส่วนตำบล หรือข้อบังคับของชุมชน/หมู่บ้านที่มีคณะกรรมการดูแลอย่างเคร่งครัด

13.กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบพระคุณ สาธารณสุขอำเภอท่าบ่อ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ
นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองนาง ผู้นำชุมชนทุกท่านที่มีส่วนสนับสนุนในดำเนินการควบคุมโรคไข้เลือดออก อาสาสมัครสาธารณสุขตำบลหนองนางทุกท่านที่มีส่วนร่วมในการควบคุมโรคในครั้งนี้

14.เอกสารอ้างอิง
กระทรวงสาธารณสุข. นิยามโรคติดเชื้อประเทศไทย ; 2544.
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. สรุปรายงานเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา ; 2546.
สุจิตรา นิมานนิตย์ และคณะ,บรรณาธิการ. แนววินิจฉัยและรักษาโรคไข้เลือดออกแดงกี่.พิมพ์
ครั้งที่1.กรุงเทพ : กระทรวงสาธารณสุข; 2542 .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น