วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553

รายงานการสอบสวนโรคไข้เลือดออก

รายงานการสอบสวนโรคไข้เลือดออก
บ้านน้ำเที่ยง หมู่ที่ 10 ตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552

บทนำ
วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เวลา 11.20 น. สถานีอนามัยบ้านกุดแข้ ตำบลนางาม ได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเสลภูมิ ว่าพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในหญิง โรงพยาบาลอาจสามารถ จำนวน 1 ราย
วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เวลา 10.00 น. สถานีอนามัยบ้านกุดแข้ ตำบลนางาม ได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเสลภูมิ ว่าพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในชายโรงพยาบาลอาจสามารถ จำนวน 1 ราย
วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เวลา 14.10 น. สถานีอนามัยบ้านกุดแข้ ตำบลนางาม ได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเสลภูมิ ว่าพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในชายโรงพยาบาลเสลภูมิ จำนวน 1 ราย
สถานีอนามัยบ้านกุดแข้ ตำบลนางาม จึงได้ดำเนินการสอบสวนผู้ป่วย สอบสวนโรคในพื้นที่
และเริ่มดำเนินการควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เวลา 12.30 น. ในการลงพื้นที่ทราบข้อมูลจากผู้นำและ อสม.ว่าประมาณ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ป่วยด้วยอาการไข้สูง ออกผื่นตามตัว 2 ราย
เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน และวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ในการลงพื้นที่รณรงค์วบคุมโรค
พบผู้ป่วยอาการไข้สูง ออกผื่นตามตัว 1 ราย คือ เด็กชายอภิสิทธิ์ เดชพละ อายุ 9 ปี แนะนำให้เข้ารับการตรวจรักษาที่สถานีอนามัยและโรงพยาบาลตามลำดับ ซึ่งเป็นผู้ป่วยรายที่ 3 ที่ได้รับรายงานโรค


วัตถุประสงค์
1. เพื่อยืนยันการรายงานโรค
2. เพื่อหาสาเหตุของการเกิดโรค
3. เพื่อหาแนวทางในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค

วิธีการศึกษา/สอบสวนโรค
การสอบสวนโรคในครั้งนี้ เป็นการศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา เก็บรวบรวมข้อมูลโดยศึกษาจากแฟ้มบันทึกรายงานการรักษาผู้ป่วย และสัมภาษณ์ผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิด
นิยามผู้ป่วยไข้เลือดออก ใช้ทั้ง
เกณฑ์ทางคลินิก คือ มีไข้เฉียบพลัน และ Tourniquet Test ให้ผลบวก ร่วมกับมีลักษณะ ที่บ่งบอกถึงการรั่วของ plasma และ อาการอื่นๆ อย่างน้อย 1 อาการ ต่อไปนี้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูกหรือข้อต่อ มีผื่น มีอาการเลือดออก ตับโตมักกดเจ็บ
และ เกณฑ์ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ เม็ดเลือดขาว น้อยกว่า 5,000 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร, เกล็ดเลือดน้อยกว่า 100,000 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตรและ มี Hematocrit เพิ่มขึ้นจากเดิม มากกว่าร้อยละ 10-20
เครื่องมือในการสอบสวนโรคในครั้งนี้ใช้แบบสอบสวนโรคเฉพาะรายโรคไข้เลือดออก รวมทั้งศึกษาสภาพแวดล้อมที่อยู่ของผู้ป่วย ศึกษาค่าดัชนีความชุกของลูกน้ำยุงลาย และศึกษาผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อสนับสนุนและยืนยันคำวินิจฉัยของแพทย์

ผลการศึกษา/สอบสวนโรค
1. ข้อมูลผู้ป่วยรายที่ 1
1.1 ประวัติผู้ป่วย
ผู้ป่วยชื่อ นางสาวภราดา ท่าสะอาด อายุ 16 ปี อยู่บ้านเลขที่ 97 หมู่ที่ 10 ตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนอาจสามารถวิทยา ผู้ป่วยไม่มีประวัติเคยป่วยหรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกมาก่อน มีสมาชิกอยู่อาศัยในหลังคาเรือน 2 คน ประกอบไปด้วย ยายอายุ 60 ปี และ ผู้ป่วย
1.2 ประวัติการเจ็บป่วยและประวัติการเดินทาง
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ผู้ป่วยมีประวัติไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนอาจสามารถวิทยา เทียวไป- กลับทุกวัน ผู้ป่วยเริ่มป่วยเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2552 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอาจสามารถ ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ด้วยอาการ ไข้สูง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มีผื่นขึ้นตามตัว ผลทดสอบ Tourniquet Test ให้ผลลบ แพทย์ผู้รักษาวินิจฉัยว่า ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก (DHF)
1.3 การตั้งข้อสมมติฐาน
ผู้ป่วยอาจถูกยุงลายที่มีเชื้อกัดและติดเชื้อไข้เลือดออกจากบ้านของผู้ป่วยเอง หรือติดจากโรงเรียนอาจสามรถวิทยา เนื่องจากผู้ป่วยมีประวัติเดินทางไปเรียนหนังสือ ไม่มีประวัติสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย 2 รายที่มีอาการไข้ออกผื่น ซึ่งรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนก่อนหน้านี้
2. สภาพสิ่งแวดล้อมทั่วไป
2.1 บ้านน้ำเที่ยง หมู่ที่ 10 ตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 131 หลังคาเรือน สภาพสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปเป็นชุมชนชนบท ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
2.2 บ้านผู้ป่วย สภาพบ้านเป็นบ้านชั้นเดียวก่ออิฐถือปูน ภายในบ้านค่อนข้างมืด อากาศไม่ค่อยถ่ายเท การจัดบ้านเรือนไม่เป็นระเบียบ การจัดเก็บเสื้อผ้าบางส่วนแขวนไว้ตามราวตากผ้าในบ้าน
2.3 โรงเรียนอาจสามารถวิทยา เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอ มีนักเรียนหลายพื้นที่เข้ามาเรียน และมีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกหลายพื้นที่ของอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด

3. ค่าดัชนีความชุกของลูกน้ำยุงลาย/แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
3.1 บ้านผู้ป่วย
-จำนวนภาชนะที่สำรวจทั้งหมด จำนวน 8 ภาชนะ พบลูกน้ำ 2 ภาชนะ
3.2 หมู่ที่ 10 ตำบลนางาม
-จำนวนบ้านที่สำรวจ 131 หลังคาเรือน พบลูกน้ำ จำนวน 18 หลังคาเรือน
-จำนวนภาชนะที่สำรวจ 674 ชิ้น พบลูกน้ำ จำนวน 24 ภาชนะ

ตารางที่ 1 สรุปค่าดัชนีความชุกของลูกน้ำยุงลายก่อนและหลังดำเนินการควบคุมโรคไข้เลือดออก
สถานที่ ก่อนดำเนินการควบคุมโรค หลังดำเนินการควบคุมโรค
BI HI CI BI HI CI
1. บ้านผู้ป่วย - - 25 - - 0
2. ม.10 ต.นางาม 18.32 13.74 3.56 0 0 0


4. ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ตารางที่ 2 ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั่วไป (CBC)
ครั้งที่ วันที่ จำนวนเม็ดเลือดขาว (เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร) เกล็ดเลือด
(เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร) Hematocrit
(%)
1 10 มิถุนายน552 2,200 98,000 39.2

1. ข้อมูลผู้ป่วยรายที่ 2
1.1 ประวัติผู้ป่วย
ผู้ป่วยชื่อ เด็ดชายนันทพงษ์ ราชกิจ อายุ 11 ปี อยู่บ้านเลขที่ 25 หมู่ที่ 10 ตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด กำลังศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านน้ำเที่ยงนาเรียง ผู้ป่วยไม่มีประวัติเคยป่วยหรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกมาก่อน มีสมาชิกอยู่อาศัยในหลังคาเรือน 5 คน ประกอบไปด้วย ตาอายุ 60 ปี พ่ออายุ 36 ปี แม่อายุ 37 ปี น้องสาวอายุ 7 ปี และ ผู้ป่วย

1.2 ประวัติการเจ็บป่วยและประวัติการเดินทาง
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ผู้ป่วยไม่มีประวัติการเดินทางไปต่างพื้นที่ ผู้ป่วยเริ่มป่วยเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอาจสามารถ ในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ด้วยอาการ ไข้สูง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มีผื่นขึ้นตามตัว ผลทดสอบ Tourniquet Test ให้ผลบวก แพทย์ผู้รักษาวินิจฉัยว่า ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก (DHF)

1.3 การตั้งข้อสมมติฐาน
เนื่องจากบ้านอยู่ห่างจากบ้านผู้ป่วยรายที่ 1 ประมาณ 800 เมตร แต่เป็นเส้นทางผ่านไปโรงเรียน ผู้ป่วยอาจถูกยุงลายกัดและติดเชื้อไข้เลือดออกจากบ้านของผู้ป่วยเอง หรืออาจติดเชื้อจากยุงลายกัดที่บ้านผู้ป่วยรายที่ 1 ระหว่างเดินทางไปโรงเรียน
2. สภาพสิ่งแวดล้อมทั่วไป
2.1 บ้านน้ำเที่ยง หมู่ที่ 10 ตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 131 หลังคาเรือน สภาพสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปเป็นชุมชนชนบท ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
2.2 บ้านผู้ป่วย สภาพบ้านเป็นบ้าน 2 ชั้นๆล่างก่ออิฐถือปูนเป็นบางส่วน ขายของชำ ภายในบ้านค่อนข้างโล่ง อากาศถ่ายเทได้ดี การจัดบ้านเรือนค่อนข้างเป็นระเบียบ บริเวณหลังบ้านมีต้นไม้ กอไผ่ ค่อนข้างรกและทึบ
2.3 โรงเรียนบ้านน้ำเที่ยงนาเรียง สภาพสิ่งแวดล้อมภายทั่วไปภายในโรงเรียน ค่อนข้างสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย ห้องน้ำ และการสุขาภิบาลอยู่ในเกณฑ์ดี
3. ค่าดัชนีความชุกของลูกน้ำยุงลาย/แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
3.1 บ้านผู้ป่วย
-จำนวนภาชนะที่สำรวจทั้งหมด จำนวน 5 ภาชนะ ไม่พบลูกน้ำ


3.2 หมู่ที่ 10 ตำบลนางาม
-จำนวนบ้านที่สำรวจ 131 หลังคาเรือน พบลูกน้ำ จำนวน 18 หลังคาเรือน
-จำนวนภาชนะที่สำรวจ 674 ชิ้น พบลูกน้ำ จำนวน 24 ภาชนะ
3.3 โรงเรียนบ้านน้ำเที่ยงนาเรียง
- จำนวนภาชนะที่สำรวจ 16 ภาชนะ ไม่พบภาชนะที่มีลูกน้ำยุงลาย
ตารางที่ 3 สรุปค่าดัชนีความชุกของลูกน้ำยุงลายก่อนและหลังดำเนินการควบคุมโรคไข้เลือดออก
สถานที่ ก่อนดำเนินการควบคุมโรค หลังดำเนินการควบคุมโรค
BI HI CI BI HI CI
1. บ้านผู้ป่วย - - 0 - - 0
2. ม.10 ต.นางาม 18.32 13.74 3.56 0 0 0
3. โรงเรียนบ้านน้ำเที่ยงนาเรียง - - 0 - - 0

4. ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ตารางที่ 4 ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั่วไป (CBC)
ครั้งที่ วันที่ จำนวนเม็ดเลือดขาว (เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร) เกล็ดเลือด
(เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร) Hematocrit
(%)
1 10 มิถุนายน552 3,600 109,000 39

1. ข้อมูลผู้ป่วยรายที่ 3
1.1 ประวัติผู้ป่วย
ผู้ป่วยชื่อ เด็กชายอภิสิทธิ์ เดชพละ อายุ 9 ปี อยู่บ้านเลขที่ 89 หมู่ที่ 10 ตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด กำลังศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านน้ำเที่ยงนาเรียง ผู้ป่วยไม่มีประวัติเคยป่วยหรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกมาก่อน มีสมาชิกอยู่อาศัยในหลังคาเรือน 5 คน ประกอบไปด้วย ตาอายุ 63 ปี ยายอายุ 62 ปี พ่ออายุ 41 ปี แม่อายุ 36 ปี พี่สาวอายุ 14 ปี และ ผู้ป่วย
1.2 ประวัติการเจ็บป่วยและประวัติการเดินทาง
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ผู้ป่วยไม่มีประวัติการเดินทางไปต่างพื้นที่ ผู้ป่วยเริ่มป่วยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเสลภูมิ ในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ด้วยอาการ ไข้สูง ปวดศีรษะ มีผื่นขึ้นตามตัว ผลทดสอบ Tourniquet Test ให้ผลบวก แพทย์ผู้รักษาวินิจฉัยว่า ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก (DF)


1.3 การตั้งข้อสมมติฐาน
ผู้ป่วยมีประวัติไปเล่นอยู่ใกล้บ้านผู้ป่วยรายที่ 1 และเรียนอยู่โรงเรียนเดียวกับผู้ป่วยรายที่2 ผู้ป่วยอาจถูกยุงลายกัดและติดเชื้อไข้เลือดออกจากบ้านของผู้ป่วยเอง หรือติดเชื้อจากถูกยุงลายกัดที่บ้านผู้ป่วยรายที่ 1 หรือติดเชื้อจากถูกยุงลายกัดที่โรงเรียนบ้านน้ำเที่ยงนาเรียงซึ่งเรียนร่วมกับผู้ป่วยรายที่ 2
2. สภาพสิ่งแวดล้อมทั่วไป
2.1 บ้านน้ำเที่ยง หมู่ที่ 10 ตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 131 หลังคาเรือน สภาพสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปเป็นชุมชนชนบท ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
2.2 บ้านผู้ป่วย สภาพบ้านเป็นบ้าน 2 ชั้นๆล่างก่ออิฐถือปูน ขายของชำภายในบ้าน ค่อนข้างมืดและชื้น อากาศถ่ายเทไม่ดี การจัดบ้านเรือน และสิ่งของไม่เป็นระเบียบ
2.3 โรงเรียนบ้านน้ำเที่ยงนาเรียง สภาพสิ่งแวดล้อมภายทั่วไปภายในโรงเรียน ค่อนข้างสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย ห้องน้ำ และการสุขาภิบาลอยู่ในเกณฑ์ดี
3. ค่าดัชนีความชุกของลูกน้ำยุงลาย/แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
3.1 บ้านผู้ป่วย
-จำนวนภาชนะที่สำรวจทั้งหมด จำนวน 4 ภาชนะ ไม่พบพบลูกน้ำ
3.2 หมู่ที่ 10 ตำบลนางาม
-จำนวนบ้านที่สำรวจ 131 หลังคาเรือน พบลูกน้ำ จำนวน 15 หลังคาเรือน
-จำนวนภาชนะที่สำรวจ 663 ชิ้น พบลูกน้ำ จำนวน 19 ภาชนะ
3.3 โรงเรียนบ้านน้ำเที่ยงนาเรียง
- จำนวนภาชนะที่สำรวจ 14 ภาชนะ ไม่พบภาชนะที่มีลูกน้ำยุงลาย
ตารางที่ 5 สรุปค่าดัชนีความชุกของลูกน้ำยุงลายก่อนและหลังดำเนินการควบคุมโรคไข้เลือดออก
สถานที่ ก่อนดำเนินการควบคุมโรค หลังดำเนินการควบคุมโรค
BI HI CI BI HI CI
1. บ้านผู้ป่วย - - 0 - - 0
2. ม.10 ต.นางาม 14.50 11.45 2.86 0 0 0
3. โรงเรียนบ้านน้ำเที่ยงนาเรียง - - 0 - - 0
4. ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ตารางที่ 6 ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการทั่วไป (CBC)
ครั้งที่ วันที่ จำนวนเม็ดเลือดขาว (เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร) เกล็ดเลือด
(เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร) Hematocrit
(%)
1 19 มิถุนายน552 3,800 168,000 45


สรุปผลการสอบสวนโรค
การสอบสวนโรคไข้เลือดออกในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ยืนยันการรายงานโรค ค้นหาสาเหตุของโรค และวางแนวทางในการควบคุมและป้องกันโรค โดยศึกษาระบาดวิทยาเชิงพรรณนา สำรวจสิ่งแวดล้อม และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
ผลการสอบสวนพบว่า ผู้ป่วยรายที่ 1 ชื่อ นางสาวภารดา ท่าสะอาด อายุ 16 ปี ที่อยู่บ้านเลขที่ 97 หมู่ที่ 10 ตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนอาจสามารถวิทยา โดยเริ่มป่วยเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2552 และเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในที่โรงพยาบาลอาจสามารถ ในวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ด้วยอาการ ไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผลทดสอบ Tourniquet Test ให้ผลลบ เม็ดเลือดขาว 2,200 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร เกล็ดเลือด 98,000 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร Hematocrit 39.2% แพทย์ผู้รักษาวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออก (DHF) และในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นได้รับการส่งต่อโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ผู้ป่วยอาการดีขึ้นและออกจากโรงพยาบาลในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552
จากผลการสอบสวนโรคผู้ป่วยรายนี้ พบว่าผู้ป่วยมีอาการทางคลินิกและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเข้าข่ายตามนิยามผู้ป่วยไข้เลือดออก จึงได้รับการวินิจฉัยสุดท้ายเป็น DHF แหล่งก่อโรค คาดว่าจะเป็นบ้านผู้ป่วยเอง หรือติดจากโรงเรียนอาจสามรถวิทยา เนื่องจากผู้ป่วยมีประวัติเดินทางไปเรียนหนังสือ ไม่มีประวัติสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย 2 รายที่มีอาการไข้ออกผื่น ซึ่งรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนก่อนหน้านี้

ผลการสอบสวนพบว่า ผู้ป่วยรายที่ 2 ชื่อ เด็กชายนันทพงษ์ ราชกิจ อายุ 11 ปี ที่อยู่ 25 หมู่ที่ 10 ตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด กำลังศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านน้ำเที่ยงนาเรียง โดยเริ่มป่วยเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2552 และเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาลอาจสามารถ ในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ด้วยอาการ ไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นขึ้นตามตัว ผลทดสอบ Tourniquet Test ให้ผลบวก เม็ดเลือดขาว 2,600 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร เกล็ดเลือด 109,000 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร Hematocrit 39% แพทย์ผู้รักษาวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออก (DHF) และรับรักษาไว้ในโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาการดีขึ้นและออกจากโรงพยาบาลในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552
จากผลการสอบสวนโรคผู้ป่วยรายนี้ พบว่าผู้ป่วยมีอาการทางคลินิกและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเข้าข่ายตามนิยามผู้ป่วยไข้เลือดออก จึงได้รับการวินิจฉัยสุดท้ายเป็น DHF แหล่งก่อโรคคาดว่าจะเป็นบ้านผู้ป่วยเอง หรืออาจติดเชื้อจากยุงลายกัดที่บ้านผู้ป่วยรายที่ 1 ระหว่างเดินทางไปโรงเรียน

ผลการสอบสวนพบว่า ผู้ป่วยรายที่ 3 ชื่อ เด็กชายอภิสิทธิ์ เดชพละ อายุ 9 ปีอยู่บ้านเลขที่ 89 หมู่ที่ 10 ตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด กำลังศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านน้ำเที่ยงนาเรียง โดยเริ่มป่วยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552 และเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในที่โรงพยาบาลเสลภูมิ ในวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ด้วยอาการ ไข้ ปวดศีรษะ มีผื่นขึ้นตามตัว ผลทดสอบ Tourniquet Test ให้ผลบวก เม็ดเลือดขาว 3,100 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร เกล็ดเลือด 168,000 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิเมตร Hematocrit 45% แพทย์ผู้รักษาวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออก (DF) และรับรักษาไว้ในโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาการดีขึ้นและออกจากโรงพยาบาลในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2552
จากผลการสอบสวนโรคผู้ป่วยรายนี้ พบว่าผู้ป่วยมีอาการทางคลินิกและผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเข้าข่ายตามนิยามผู้ป่วยไข้เลือดออก จึงได้รับการวินิจฉัยสุดท้ายเป็น DF แหล่งก่อโรคคาดว่าจะเป็นบ้านผู้ป่วยเอง หรือติดเชื้อจากการไปเล่นใกล้บ้านผู้ป่วยรายที่ 1 หรือติดเชื้อจากผู้ป่วยรายที่ 2 เนื่องจากเรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน

จากการศึกษาข้อมูลย้อนหลังพบว่า บ้านน้ำเที่ยง หมู่ที่ 10 ตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นหมู่บ้านที่มีการรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในช่วง 10 ปีย้อนหลังในลักษณะปีเว้นปี 2 ปีเว้นปี และมีรายงานพบผู้ป่วยติดต่อกันถึง 3 ปี ประกอบกับการสำรวจค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในหมู่บ้านมีค่าค่อนข้างสูง ซึ่งแสดงว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการระบาดของโรค

มาตรการควบคุมโรคและป้องกันโรค
มาตรการที่ดำเนินการแล้ว
1. ประสานงานกับองค์การบริหารส่วนตำบลนางาม ผู้นำหมู่บ้านและอสม. ดำเนินการประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ให้ทราบว่ามีโรคระบาดเกิดขึ้นในหมู่บ้านพร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนในการดำเนินการควบคุมโรค
2. ประสานงานไปยังโรงเรียนบ้านน้ำเที่ยงนาเรียง ขอความร่วมมือในการดำเนินการควบคุมโรค โดยการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียน
3. ดำเนินการร่วมกับโรงเรียนบ้านน้ำเที่ยงนาเรียง สำรวจค่าดัชนีความชุกของลูกน้ำ พร้อมทั้งกำจัดลูกน้ำยุงลาย และใส่ทรายกำจัดลูกน้ำในโรงเรียน
4. ดำเนินการร่วมกับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน สำรวจค่าดัชนีความชุกของลูกน้ำยุงลายโดยแยกเป็นละแวก แต่ละละแวกจะมีเจ้าหน้าที่ร่วม พร้อมทั้งกำจัดลูกน้ำยุงลาย ล้างขัดภาชนะ และใส่ทรายกำจัดลูกน้ำ
5. สถานีอนามัยบ้านกุดแข้ร่วมกับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและผู้นำชุมชน ดำเนินการพ่นหมอกควันครั้งที่ 1 ในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2552 โดยพ่นหมอกควันบริเวณบ้านผู้ป่วยและบ้านใกล้เคียงรัศมี 100 เมตร และดำเนินการพ่นหมอกควันครั้งที่ 2 รอบหมู่บ้านในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552
6. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบข้อมูลผ่านหอกระจายข่าวของหมู่บ้าน และแจกแผ่นพับเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก การป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก แก่ทุกหลังคาเรือน และหากมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ไม่ไอ ไม่เป็นหวัดให้รีบไปตรวจรักษาที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาล อย่าซื้อยากินเอง
มาตรการที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
1. สำรวจค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย โดย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและเจ้าหน้าที่ร่วมติดตามทุกวันศุกร์
2. ทำความสะอาดภายในบ้าน และสิ่งแวดล้อมบริเวณบ้าน รณรงค์กำจัด/ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย เช่น ฝังภาชนะแหล่งเพาะพันธุ์ ล้างขัดภาชนะ และเปลี่ยนน้ำ โอ่งน้ำ/ ห้องน้ำ ทุกวันศุกร์
3. ปิดฝาโอ่งน้ำกินให้มิดชิด
4. ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำทุก 3 เดือน และตรวจสอบทุกสัปดาห์
5. สนับสนุนการเลี้ยงปลากินลูกน้ำทุกหลังคาเรือน โดยใส่ปลาในโอ่งน้ำใช้และอ่างน้ำในห้องน้ำ
6. ใส่ทรายหรือเกลือในจานรองขาตู้ เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกวันศุกร์
7. ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออก และการป้องกันตนเอง

ปัญหาและอุปสรรค
เนื่องจากเป็นฤดูเพาะปลูก ประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยมีเวลาดูแลสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน สภาพแวดล้อมของหมู่บ้านมีต้นไม้ กอไผ่ สวนกล้วย สวนหม่อน ค่อนข้างหนาทึบ และมีรายงานการเกิดโรคไข้เลือดออกเกือบทุกปี ซึ่งการดำเนินงานของกลุ่มอาสาสมัครประจำหมู่บ้านและผู้นำชุมชน ในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคได้ดำเนินการอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ประชาชนส่วนใหญ่ค่อนข้างตื่นตัวในการรับทราบข่าวสาร แต่พฤติกรรมในการป้องกันโรคและดูแลตนเองยังมีน้อย โดยคิดว่าเป็นหน้าที่ของ อสม.และเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและควบคุมโรค




ข้อเสนอแนะ
1. สนับสนุนให้ประชาชนใช้วิธีทางกายภาพและชีวภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย เช่น การปล่อยปลากินลูกน้ำ เพราะเป็นวิธีที่ง่ายประหยัดและปลอดภัย
2. ควรสร้างความตระหนักให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการควบคุมและป้องกันโรค โดยใช้มาตรการทางกฎหมายหรือข้อบังคับขององค์การท้องถิ่น
3. ควรมีการศึกษาเชื้อที่ก่อโรค และสภาพพื้นที่ที่มีการเกิดโรคซ้ำซาก

กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบคุณผู้มีส่วนสนับสนุนในการสอบสวนและควบคุมโรคไข้เลือดออก บ้านน้ำเที่ยง หมู่ที่ 10ตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด คือ องค์การบริหารส่วนตำบลนางาม โรงเรียนบ้านน้ำเที่ยงนาเรียง ผู้นำชุมชน อสม. และ ประชาชน บ้านน้ำเที่ยง หมู่ที่ 10 ตำบลนางาม อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

ทีมสอบสวนโรค
1. นางภัสดาพร ไชยสิงห์ หัวหน้าสถานีอนามัยบ้านกุดแข้
2. นายทวีศักดิ์ ลีแสน นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ
3. นางจุฑาทิพย์ ศิริอัฐ พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ

เอกสารอ้างอิง
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. นิยามโรคติดเชื้อประเทศไทย: พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การ รับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์. 2546.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น