วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553

พฤติกรรมการป้องกันและควบคุมลูกน้ำยุงลาย

พฤติกรรมการป้องกันและควบคุมลูกน้ำยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออกของประชาชนบ้านกลาง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
ณัฏฐวุฒิ แก้วพิทูลย์1, ชุติกาญจน์ พิลาศรี1, ศ.นพ.ประสิทธิ์ เพ็งสา1,
เบญญาภา ประกอบแสง2และ พญ.สรญา เจษฎาพัทยา แก้วพิทูลย์1,3
1 วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข, 3ศูนย์สุขภาพชุมชน มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี,
2 วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร อุบลราชธานี
บทคัดย่อ
ไข้เลือดออกยังคงเป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมลูกน้ำยุงลาย การสำรวจความชุกลูกน้ำยุงลายในพื้นที่บ้านกลาง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 3 ตุลาคม 2548 โดยการศึกษาเชิงพรรณนา สำรวจแบบ systemic random sampling และสัมภาษณ์เชิงลึกกับบุคคลในครัวเรือนที่สามารถให้ข้อมูลได้ ผลการศึกษาพบว่า พฤติกรรมการป้องกันและควบคุมลูกน้ำยุงของประชาชน คือ การปิดฝาน้ำดื่ม-น้ำใช้ ร้อยละ 43.5 การใส่สารกำจัดและป้องกันในภาชนะเก็บ/ขังน้ำ ร้อยละ 21.5 การเลี้ยงปลาหางนกยูง ร้อยละ 13.5 การล้าง/เปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน ร้อยละ 11.5 การสำรวจลูกน้ำยุงลายในภาชนะ ร้อยละ 6.7 การทำลายภาชนะน้ำขังตามบริเวณบ้าน ร้อยละ 3.3 เหตุผลของผู้มีพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมยุงลายเรียงจากมากไปน้อย คือ ความกลัวเป็นโรคไข้เลือดออก การได้รับข่าวสารทางโทรทัศน์ ข่าวสารทางหอกระจายข่าวโดยผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอื่นๆ ตามลำดับ ส่วนเหตุผลของผู้มีพฤติกรรมไม่ป้องกันและควบคุมยุงลาย คือ ไม่มีความรู้ และคิดว่าไม่มีอันตรายแก่ตนเอง การสำรวจลูกน้ำยุงลายตามครัวเรือน พบว่า House Index (HI) ร้อยละ 43.5 จำนวนภาชนะพบลูกน้ำยุงลาย container Index (CI) ร้อยละ 51.8 และจำนวนภาชนะที่พบลูกน้ำต่อบ้านเรือนที่สำรวจทั้งหมด Breteau Index (BI) ร้อยละ 97.4 แหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงพบมากที่สุด คือ โอ่งและภาชนะกักเก็บน้ำที่ไม่มีฝาปิดคิดเป็นร้อยละ 52.7 ภาชนะรองตู้ร้อยละ 17.3 แจกันร้อยละ 12 กระป๋องหรือขวด ร้อยละ 8.5 ยางรถยนต์ร้อยละ 5.5 และอื่นๆ ร้อยละ 4 ตามลำดับ จากการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนยังมีพฤติกรรมป้องกันและควบคุมลูกน้ำยุงลายน้อย พบภาชนะที่มีลูกน้ำยุงลายค่อนข้างสูง หน่วยงานของสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องควรให้ความรู้ย้ำเตือนตลอดทั้งปี ชี้ให้เห็นผลกระทบและความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากโรคไข้เลือดออกนี้
คำสำคัญ พฤติกรรม ยุงลาย ไข้เลือดออก HI, CI, BI




บทนำ
โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย มีการระบาดเกิดขึ้นทุกปี เว้นปี ซึ่งเดิมทีมักพบผู้ป่วยทีเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี แต่ในปัจจุบันนี้มีแนวโน้มที่ผู้ป่วยไข้เลือดออกนี้มีอายุมากขึ้น สถิติผู้ป่วยโรคนี้ในจังหวัดอุบลราชธานีปี 2548 (2 มกราคม – 30 กรกฎาคม 2548) มี 483 ราย อัตราป่วย 24.43 ต่อแสนประชากร (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี, 2548) โดยมีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด คือ อำเภอเมือง ตระการพืชผล เดชอุดม และวารินชำราบ 119, 65, 35, และ 32 คน ตามลำดับ มีการรายงานโรคไข้เลือดออกของจังหวัดอุบลราชธานีทุกปี จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเฝ้าระวังและควบคุมพาหะนำโรคชนิดนี้ ยุงพาหะนำโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ Aedes aegypti และ Aedes albopictus ซึ่งปัจจุบันนี้มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับชีวนิสัยของยุงลายในการกินอาหารที่เปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ปกติยุงลายจะชอบออกหากินตอนกลางวัน แต่ปัจจุบันนี้ยุงลายทั้งสองชนิดเปลี่ยนแปลงเวลาออกหากิน โดยใช้เวลาทั้งกลางวันและกลางคืน (วุฒิพงศ์ ลิมป์วิโรจน์ และคณะ, 2005) จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้การเอาใจใส่เกี่ยวกับการควบคุม และป้องกันลูกน้ำยุงลายเพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดไข้เลือดออก ชุมชนบ้านกลาง ต. โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เป็นหมู่บ้านที่มีความเสี่ยงของโรคไข้เลือดออกเพราะอยู่ในพื้นที่ที่มีรายงานการระบาดของไข้เลือดออกของจังหวัดอุบลราชธานี
ดังนั้นการทราบพฤติกรรมการป้องกัน ควบคุม ความชุกและแหล่งที่มีการเพาะพันธุ์ จึงน่าจะนำไปสู่การวางแผนการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มีประสิทธิผลมากขึ้น การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมลูกน้ำยุงลาย รวมทั้งสำรวจความชุกชุมของลูกน้ำยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออก

วิธีการศึกษา
รูปแบบการศึกษา: การศึกษาเชิงพรรณนา โดยวิธี systemic random sampling
กลุ่มเป้าหมาย: ประชาชนบ้านเรือนจำนวน 117 ครัวเรือน ในพื้นที่ชุมชนบ้านกลาง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ระหว่างวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2548 ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2548
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา: แบบสัมภาษณ์ แบบสำรวจลูกน้ำยุง ไฟฉาย และขัน
การเก็บข้อมูล: เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสำรวจลูกน้ำยุงลายและใช้การสังเกตโดยตรง โดยเก็บข้อมูลลูกน้ำยุงลายบันทึกตามรายละเอียดการสำรวจ ดังนี้ จำนวนบ้านเรือน ภาชนะรับรองน้ำ เช่น โอ่ง อ่าง ภาชนนะอื่น ๆ เช่น แจกันดอกไม้ ที่วางรองตู้กับข้าว ยางรถยนต์ และอื่นๆ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์บุคคลในครัวเรือนที่สามารถให้ข้อมูลในการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออกในบ้านได้ เช่น พฤติกรรมการควบคุมและป้องกัน จำนวนครั้งที่มีการพ่นหมอกควันสารกำจัดและป้องกันลูกน้ำยุงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออก
การวิเคราะห์ข้อมูล: วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าดัชนีความชุกชุมของลูกน้ำและ ค่า Larval Index รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลที่ใช้สถิติเชิงพรรณนา เช่น การแจกแจงความถี่ ค่าเฉลี่ย อัตราร้อยละในข้อมูลเชิงปริมาณ

ผลการศึกษา

พฤติกรรมการควบคุมและป้องกันลูกน้ำยุงลาย
กลุ่มตัวอย่างผู้ให้ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 64.1 เพศชาย ร้อยละ 35.9 อายุระหว่าง 31-60 ปี สำหรับพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมลูกน้ำยุงเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ การปิดฝาน้ำดื่ม-น้ำใช้ ร้อยละ 43.5 การใส่สารกำจัดและป้องกันในภาชนะเก็บ/ขังน้ำ ร้อยละ 21.5 การเลี้ยงปลาหางนกยูง ร้อยละ 13.5 การล้าง/เปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน ร้อยละ 11.5 การสำรวจลูกน้ำยุงลายในภาชนะ ร้อยละ 6.7 การทำลายภาชนะน้ำขังตามบริเวณบ้าน ร้อยละ 3.3 (รูปที่ 1) เหตุผลของผู้มีพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมยุงลาย คือ ความกลัวโรคไข้เลือดออก ร้อยละ 36.2 ได้รับข่าวสารคำแนะนำทางโทรทัศน์ ร้อยละ 27.8 ได้รับข่าวสารทางหอกระจายข่าวโดยผู้ใหญ่บ้าน ร้อยละ 19.7 คำแนะนำจากอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ร้อยละ 13.2 เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร้อยละ 2.1 อื่นๆ ร้อยละ 1 (รูปที่ 2) ส่วนเหตุผลของผู้มีพฤติกรรมไม่ควบคุมและป้องกันยุงลาย คือ ไม่มีความรู้ และคิดว่าไม่มีประโยชน์และอันตรายแก่ตนเอง

รูปที่ 1 พฤติกรรมการป้องกันและควบคุมลูกน้ำยุงลายของประชาชนบ้านกลาง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

รูปที่ 2 เหตุผลของผู้มีพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมลูกน้ำยุงลายของประชาชนบ้านกลาง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

ความชุกของลูกน้ำยุงลาย
จำนวนบ้านเรือนที่ทำการสำรวจทั้งหมด 117 ครัวเรือน พบลูกน้ำยุงลาย จำนวน 52 ครัวเรือน คิดเป็น House Index (HI) 43.5 (ดังรูปที่ 3) จำนวนภาชนะที่สำรวจทั้งหมด 220 ภาชนะ พบลูกน้ำยุงลาย จำนวน 114 ภาชนะ คิดเป็น container Index (CI) 51.8 (ดังรูปที่ 4) และจำนวนภาชนะที่พบลูกน้ำต่อบ้านเรือนที่สำรวจทั้งหมด Breteau Index (BI) 97.4 (ดังรูปที่ 5)


รูปที่ 3 แสดงผลการสำรวจลูกน้ำยุงลายตามครัวเรือน บ้านกลาง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี (HI= house index)

รูปที่ 4 แสดงผลการสำรวจลูกน้ำยุงลายตามภาชนะกักเก็บน้ำในพื้นที่บ้านกลาง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี (CI= container index)


รูปที่ 5 แสดงค่า Breteau Index (BI) จากการสำรวจลูกน้ำยุงลายที่พบในพื้นที่บ้านกลาง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

ลำดับความสำคัญของแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุง
ผลการสำรวจแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลายพบว่า ภาชนะที่มีลูกน้ำยุงเรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ โอ่งและภาชนะกักเก็บน้ำที่ไม่มีฝาปิดคิดเป็นร้อยละ 52.7 ภาชนะรองตู้ร้อยละ 17.3 แจกันร้อยละ 12 กระป๋องหรือขวด ร้อยละ 8.5 ยางรถยนต์ร้อยละ 5.5 และอื่นๆ ร้อยละ 4 ตามลำดับ (ดังรูปที่ 6)


รูปที่ 6 แสดงผลการสำรวจลูกน้ำยุงลายที่พบตามภาชนะต่าง ๆ ในพื้นที่บ้านกลาง ต.โนนผึ้ง
อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

วิจารณ์ผลการศึกษา
รายงานโรคไข้เลือดออกในจังหวัดอุบลราชธานีปี 2548 (2 มกราคม – 30 กรกฎาคม 2548) มี 483 ราย อัตราป่วย 24.43 ต่อแสนประชากร (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี, 2548) โดยมีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด คือ อำเภอเมือง ตระการพืชผล เดชอุดม และวารินชำราบ 119, 65, 35, และ 32 คน ตามลำดับ มีรายงานโรคไข้เลือดออกจังหวัดอุบลราชธานีทุกปี เห็นว่าการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกที่สำคัญ ก็คือการตัดวงจรพาหะนำโรค การจะได้ประสิทธิผลก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ประชาชนมีพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมยุงลาย ความรู้ของประชาชน การดำเนินงานเชิงรุกของหน่วยงานสาธารณสุข รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น สำหรับการศึกษานี้ได้มุ่งเน้นเกี่ยวกับพฤติกรรมการป้องกันและควบคุม รวมทั้งการสำรวจความชุกของลูกน้ำยุง จากผลการศึกษาพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมลูกน้ำยุงที่ชาวบ้านปฏิบัติกันมากที่สุดคือ คือ การปิดฝาน้ำดื่ม-น้ำใช้ ร้อยละ 43.5 รองลงมา คือ การใส่สารกำจัดและป้องกันในภาชนะเก็บ/ขังน้ำ ร้อยละ 21.5 การเลี้ยงปลาหางนกยูง ร้อยละ 13.5 การล้าง/เปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน ร้อยละ 11.5 การสำรวจลูกน้ำยุงลายในภาชนะ ร้อยละ 6.7 การทำลายภาชนะน้ำขังตามบริเวณบ้าน ร้อยละ 3.3 ตามลำดับ ผลการศึกษานี้ใกล้เคียงกับการศึกษาของ เก่งกาจ อุ่นฤทธิ์ และคณะ (2548) บ่งชี้ให้เห็นว่าประชาชนมีพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมลูกน้ำยุงเช่นเดียวกัน คือ ประชาชนขาดการตระหนักในการสำรวจดูลูกน้ำยุงลายทั้งในภาชนะกักเก็บน้ำ รวมทั้งการไม่ทำลายภาชนะน้ำขังตามบริเวณบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเป็นจำนวนมาก
เหตุผลของผู้มีพฤติกรรมการควบคุมและป้องกันยุงลายเรียงจากมากไปน้อย คือ ความกลัวโรคไข้เลือดออก ได้รับข่าวสารทางโทรทัศน์ ข่าวสารทางหอกระจายข่าวโดยผู้ใหญ่บ้าน ข่าวสารจากอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอื่นๆ ตามลำดับ จากการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าสื่อโทรทัศน์มีอิทธิพลต่อการรับรู้ข่าวสารด้านสุขภาพมากขึ้น รวมทั้งข่าวประชาสัมพันธ์ทางหอกระจายข่าวโดยผู้นำชุมชน ทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวและป้องกันควบคุมยุงลายด้วยตนเอง ขณะที่อสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังก็ยังมีบทบาทเช่นกัน และบุคลากรด้านสาธารณสุขควรมีบทบาทมากขึ้นต่อการส่งเสริมให้ความรู้ด้านการป้องกันและควบคุมโรค ส่วนเหตุผลของผู้มีพฤติกรรมไม่ควบคุมและป้องกันยุงลาย คือ ไม่มีความรู้ และคิดว่าไม่มีประโยชน์และอันตรายแก่ตนเอง การสำรวจลูกน้ำยุงลายตามครัวเรือน พบว่า House Index (HI) ร้อยละ 43.5 จำนวนภาชนะพบลูกน้ำยุงลาย container Index (CI) ร้อยละ 51.8 และจำนวนภาชนะที่พบลูกน้ำต่อบ้านเรือนที่สำรวจทั้งหมด Breteau Index (BI) ร้อยละ 97.4 แหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงพบมากที่สุด คือ โอ่งและภาชนะกักเก็บน้ำที่ไม่มีฝาปิดคิดเป็นร้อยละ 52.7 ภาชนะรองตู้ร้อยละ 17.3 แจกันร้อยละ 12 กระป๋องหรือขวด ร้อยละ 8.5 ยางรถยนต์ร้อยละ 5.5 และอื่นๆ ร้อยละ 4 ตามลำดับ จะเห็นว่าความชุกของลูกน้ำยุงอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง เมื่อเปรียบเทียบกับผลการศึกษาของ ณัฏฐวุฒิ แก้วพิทูลย์ และคณะ (2548) ที่ศึกษาในพื้นที่วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ใน อ.วารินชำราบ เช่นเดียวกันกับชุมชนบ้านกลาง โดย มีค่า HI ร้อยละ 31.3 ค่า CI ร้อยละ 25.8 และ ค่า BI ร้อยละ 25.8 ตามลำดับ ถึงแม้ว่าประชานจะมีพฤติกรรมในการป้องกันและควบคุมลูกน้ำยุงลายโดยการปิดฝาน้ำดื่ม-น้ำใช้มากเป็นอันดับหนึ่ง แต่การสำรวจเพื่อลำดับแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายกลับพบว่าโอ่ง และภาชนะกักเก็บน้ำใช้มีลูกน้ำยุงลายมากที่สุด จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ประชาชนจะต้องใส่ใจมากขึ้น เพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ จากการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนยังมีพฤติกรรมควบคุมและป้องกันลูกน้ำยุงลายน้อย ภาชนะที่พบลูกน้ำยุงลายค่อนข้างสูง หน่วยงานของสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องควรให้ความรู้ย้ำเตือนตลอดทั้งปี ชี้เห็นผลกระทบและความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากโรคไข้เลือดออกนี้

สรุปผลและข้อเสนอแนะ
ประชาชนบ้านกลางยังมีพฤติกรรมควบคุมและป้องกันลูกน้ำยุงลายน้อย พบภาชนะที่มีลูกน้ำยุงลายอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีบทบาทในการสร้างพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรค ให้ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างการตระหนักต่อปัญหาของโรคไข้เลือดออก

กิตติกรรมประกาศ
คณะผู้วิจัยขอขอบคุณนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรสาธารณสุขศาสตร์ ชั้นปีที่ 1/2548 วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร อุบลราชธานี ทุกท่านที่ได้ให้ความช่วยเหลือในการสำรวจเก็บข้อมูล ขอขอบคุณผู้นำชุมชน ประชาชน บ้านกลาง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ เอื้อเฟื้อ และอำนวยความสะดวกในการใช้พื้นที่ตลอดระยะเวลาทำการศึกษา




เอกสารอ้างอิง

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี. สถิติผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในจังหวัดอุบลราชธานี 2 มกราคม – 30 กรกฎาคม 2548.
วุฒิพงศ์ ลิมป์วิโรจน์, ต้องจิตร ถันชมนาง, ปิยธิดา พิมพ์วิชัย, วนิดา พั้วสุ, และกาญจนาวดี ภูวศรี. การศึกษายุงพาหะนำโรคไข้เลือดออก (Aedes albopictus) ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น. ศรีนครินทร์เวชศาร.ปีที่ 20 ฉบับพิเศษ 2548 หน้า 170.
เก่งกาจ อุ่นฤทธิ์, ชฤมนต์ อภิวัฒนพร, ธนพล ลิรัฐพงศ์, ปริญญา อัฌธวรพงษ์, สิริวัฒน์ สวัสดิกิจจานนท์, ศิริฤทัย อำนาจบุดดี. พฤติกรรมการป้องกันและควบคุมไข้เลือดออกของประชากรในบ้านหนองไผ่ หมู่ที่ 14. ศรีนครินทร์เวชศาร.ปีที่ 20 ฉบับพิเศษ 2548 หน้า 165.
ณัฏฐวุฒิ แก้วพิทูลย์, ขัตติยา สุดา, จารุวรรณ์ วงบุตดี, เบญญาภา ประกอบแสง, และพญ.สรญา (เจษฎาพัทยา) แก้วพิทูลย์. การศึกษาความชุกและลำดับความสำคัญของแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในอาคารและสถานที่ เขตพื้นที่วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร อุบลราชธานี. ศรีนครินทร์เวชศาร.ปีที่ 20 ฉบับพิเศษ 2548 หน้า 237.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น