รายงานการสอบสวนโรคไข้เลือดออก
หมู่ที่ 1 ตำบลองครักษ์ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก
ระหว่างวันที่ 14 – 30 มิถุนายน 2551
ศิริพร ยุคนธจิตต์ รพ.องครักษ์
1. ความเป็นมา
ในวันที่ 14 มิถุนายน 2551 เวลา 14.00 น. ทีม SRRT โรงพยาบาลองครักษ์ ได้รับรายงานจากงานผู้ป่วยในโรงพยาบาลองครักษ์ มีผู้ป่วย 1 ราย ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าสงสัยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก และได้รับไว้รักษาที่โรงพยาบาลองครักษ์ ตึกผู้ป่วยใน ผู้ป่วย อาศัยอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลองครักษ์ อำเภอองครักษ์ ทีม SRRT โรงพยาบาลองครักษ์ ได้เข้าไปสอบสวนและควบคุมโรคเบื้องต้นโดยพ่นหมอกควันและพ่นแบบฝอยละอองเพื่อฆ่ายุงตัวแก่ ในวันที่ 14 มิถุนายน 2551 เวลา 15.00 น.
2. วัตถุประสงค์
1. เพื่อหาสาเหตุของการเกิดโรค แหล่งโรค และวิธีการถ่ายทอดโรค
2. เพื่อควบคุมและป้องกันโรคไม่ให้แพร่กระจาย
3. เพื่อกำหนดแนวทางการควบคุมป้องกันโรค
3. วิธีดำเนินการ
1. ทบทวนเอกสารทางวิชาการ แนวทางการสอบสวนโรคและมาตรการการดำเนินงานควบคุมโรคไข้เลือดออก
2. นิยามผู้ป่วย ที่มีอาการไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส 2-7 วันร่วมกับอาการอื่น ๆ อย่างน้อย 2 อาการต่อไปนี้คือปวดศีรษะอย่างรุนแรง ,ปวดกระบอกตา , ปวดกล้ามเนื้อ ,ปวดกระดูกหรือข้อต่อ ,มีผื่นขึ้น , มีอาการเลือดออก , Tourniquet test ให้ผลบวก
3.รวบรวมประวัติผู้ป่วยขณะที่รับการรักษาในโรงพยาบาลจากเวชระเบียนผู้ป่วย
4.รวบรวมข้อมูลประวัติการป่วย , การป่วยในปัจจุบัน , โดยการสัมภาษณ์ผู้ปกครอง รวมทั้งผู้ป่วยและแพทย์ผู้รักษา
5. สำรวจสภาพแวดล้อมบ้านผู้ป่วย และบ้านใกล้เคียง
6. รวบรวมประวัติการเดินทางของผู้ป่วยโดยการสัมภาษณ์ผู้ป่วย และผู้ปกครอง
7. ค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ ผู้สัมผัสใกล้ชิด ผู้ป่วยและในชุมชนละแวกบ้านเดียวกัน
8. ดำเนินการควบคุมโรคและป้องกันโรคระหว่างการดำเนินการสอบสวนโรค
9. รวบรวม เรียบเรียง วิเคราะห์ข้อมูลและสรุปรายงานการสอบสวนโรค
4. ผลการสอบสวนโรค
ข้อมูลการป่วยปัจจุบัน
ผู้ป่วย ชื่อเด็กหญิงพรนภา สหสุนทร อายุ 12 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 409 หมู่ที่ 1 ตำบลองครักษ์ เป็นตึกแถว 3 ชั้นในตลาดองครักษ์ เรียนอยู่ที่โรงเรียนอนุบาลองครักษ์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 บิดาและมารดามีอาชีพ ค้าขาย เริ่มป่วย วันที่ 12 มิถุนายน 2551 เข้ารับการรักษาโรงพยาบาลองครักษ์วันที่ 14 มิถุนายน 2551 มาด้วยอาการ มีไข้ ปวดศีรษะ ไอ มีน้ำมูก เป็นมา 2 วัน T.T. positive และให้ประวัติว่าไม่ได้เดินทางไปค้างคืนที่ใดเลย ไปโรงเรียนกลับบ้านทุกวัน
ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
วันที่ 14 มิถุนายน 51 จำนวนเม็ดเลือดขาว (W.B.C) 1,500 ต่อ ลบ.มม.
Hematocrit 40 %
Pletelet 125,000 ต่อ ลบ.มม.
วันที่ 16 มิถุนายน 51 จำนวนเม็ดเลือดขาว (W.B.C) 1,000 ต่อ ลบ.มม.
Hematocrit 39.2 %
Pletelet 78,000 ต่อ ลบ.มม.
การวินิจฉัยขั้นต้น R/O DF
การวินิจฉัยสุดท้าย DF
ข้อมูลจากการสำรวจบ้านที่อยู่ในรัศมี 100 เมตรจากบ้านของผู้ป่วย
ผลการสำรวจลูกน้ำยุงลายเพื่อหาค่าดัชนีความชุกชุมลูกน้ำยุงลาย ในรัศมี 100 เมตร จากบ้านของผู้ป่วย พบว่ามีจำนวนบ้านที่สำรวจทั้งหมด 20 หลัง บ้านที่พบลูกน้ำยุงลายมี 3 หลัง มีภาชนะทั้งหมด 53 ภาชนะ พบลูกน้ำยุงลาย 10 ภาชนะ
ค่าดัชนีความชุกชุมลูกน้ำยุงลาย ที่ได้จากการคำนวณ ดังนี้
ค่าดัชนี บ้านผู้ป่วย
CI 18.86
HI 15
5. การควบคุมโรคและการแพร่กระจายเชื้อในพื้นที่
1. การดำเนินการควบคุมโรคเบื้องต้นโดยเร็วโดยใช้สเปรย์ฆ่ายุงตัวแก่พ่นตามบ้านเบื้องต้น , สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่บ้านผู้ป่วย และรัศมีรอบบ้านผู้ป่วย 100 เมตร ดังนี้
ครั้งที่ 1 วันที่ 14 มิถุนายน 2551
ครั้งที่ 2 วันที่ 17 มิถุนายน 2551
ครั้งที่ 3 วันที่ 20 มิถุนายน 2551
2. ประสานงานกับ เทศบาลตำบลองครักษ์ ในการพ่นหมอกควันควบคุมโรคที่บ้าน ใน รัศมี 100 ม.
3.ประสานงานกับผู้นำชุมชุน อาสาสมัครสาธารณสุข เทศบาลตำบลองครักษ์ ในการเฝ้าระวังโรค และแจ้งสถานการณ์โรคหากพบผู้สงสัย และช่วยประชาสัมพันธ์ในการป้องกันโรคไข้เลือดออก
4.ดำเนินการให้สุขศึกษาเป็นรายกลุ่มกับผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกับบ้าน
5.ให้ความรู้ทางเสียงตามสายของเทศบาล เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักทราบถึงสถานการณ์ และอันตรายของไข้เลือดออกและรู้ถึงวิธีป้องกันโรค
6. สรุปผลการสอบสวนโรค
จากการสอบสวนโรคพบว่าผู้ป่วยน่าจะได้รับเชื้อในพื้นที่เนื่องจากเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 51 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ในหมู่ที่ 1 ตำบลองครักษ์ จำนวน 1 ราย ซึ่งอยู่ถัดจากบ้านของผู้ป่วยรายนี้ไปประมาณ 2 หลัง ทีมสอบสวนและควบคุมโรค ได้ดำเนินการควบคุมโรคทางกายภาพ ทางชีวภาพ และทางเคมี ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ให้ครอบคลุมในพื้นที่ และเฝ้าระวังโรคในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สุดท้ายโรคสงบ และไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่อีก
7. วิจารณ์
การเฝ้าระวังสถานการณ์โรคและการเตือนภัยล่วงหน้าโดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลการป่วย เพื่อให้ทราบสถานการณ์ทุกวัน ทุกสัปดาห์ พื้นที่ที่มีผู้ป่วยรายงานต่อเนื่องในห้วงเวลาเดียวกันจะเป็นเป้าหมายที่ต้องดำเนินงานเชิงรุกโดยเคร่งครัด ซึ่งการดำเนินงานในพื้นที่ของทีม SRRT โรงพยาบาลองครักษ์ในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จ หลังจากดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคในพื้นที่อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง และมีการเฝ้าระวังผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่อย่างเคร่งครัด ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่อีกจนถึงปัจจุบัน และโรคสงบในที่สุด
อนึ่ง เจ้าหน้าที่ต้องระลึกถึงความต่อเนื่องและความสม่ำเสมอในเรื่องการควบคุม และการกำจัดลูกน้ำยุงลาย ให้ชุมชนเป็น “ เขตปลอดลูกน้ำยุงลาย” เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของการป้องกันโรคไข้เลือดออกในทุกระดับของพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้รับผิดชอบพื้นที่และ อสม.ร่วมเป็นแกนกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมในชุมชน โรงเรียน อบต. และเทศบาล
7. ข้อเสนอแนะ
1.เนื่องจากการเกิดโรคในครั้งนี้ เกิดจากสภาพแวดล้อมและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ในพื้นที่ที่เอื้อ อำนวยต่อการเกิดโรค และการแพร่กระจายโรค เนื่องจากสภาพบ้านเรือนอยู่เป็นชุมชน เป็นกลุ่ม และในโรงเรียน นักเรียนมาเรียนจากหลายตำบลทำให้การแพร่กระจายโรคเกิดขึ้นได้รวดเร็ว
2.การสอบสวนโรค หาสาเหตุและแหล่งรังโรค ที่แท้จริงไม่พบทำให้การควบคุมโรคไม่เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล สูญเสียทั้งวัสดุ อุปกรณ์ เวลา ไปโดยเปล่าประโยชน์
3.ยังขาดความสัมพันธ์ในการเชื่อมโยงของผู้ป่วยและการเฝ้าระวังในผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่
4.ประชาชนยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกันโรคโดยการสำรวจลูกน้ำยุงลายภายในบ้านตนเอง การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และการป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด
5.เข้มงวดในการติดตาม กำกับ ดูแล อสม. ในการดำเนินงานควบคุมกำจัดลูกน้ำยุงลาย และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในพื้นที่อย่างต่อเนื่องต่อไป
8. กิตติกรรมประกาศ
ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่พยาบาลโรงพยาบาลองครักษ์ที่ให้ความร่วมมือในการทบทวนเวชระเบียนผู้ป่วย ขอบคุณอาสาสมัครประจำหมู่บ้านและ เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลองครักษ์ที่ให้ความร่วมมือในการควบคุมโรค เฝ้าระวังโรค และแจ้งสถานการณ์โรคหากพบผู้สงสัย และประชาสัมพันธ์ป้องกันโรคไข้เลือดออก
ขอขอบคุณ คุณมณี ผลภาษี ระบาดวิทยาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครนายก ที่ให้คำปรึกษาในการสอบสวนการระบาดและการเขียนรายงานสอบสวนโรค
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรคติดต่อ . โรคติดต่อที่เป็นปัญหาใหม่ พิมพ์ครั้งที่ 3 . โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด 2542.
กองระบาดวิทยา สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข . คู่มือการดำเนินการทางระบาดวิทยา พิมพ์ครั้งที่ 1 . โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (รสพ.) . 2542
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข . นิยามโรคติดเชื้อประเทศไทย พิมพ์ครั้งที่ 2 . โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (รสพ.) . 2546
วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น