วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553

ยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออก

ยุงลายพาหะนำโรคไข้เลือดออก
ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกเป็นแมลงจำพวกหนึ่งที่สำคัญมีอยู่ 2 ชนิด คือ ยุงลาย
บ้านและ ยุงลายสวน ยุงลายเป็นยุงที่มีขนาดปานกลาง วงจรชีวิตของยุงลายประกอบด้วยระยะต่างๆ 4 ระยะ ได้แก่ ระยะไข่, ระยะตัวอ่อนหรือลูกน้ำ, ระยะดักแด้หรือตัวโม่ง, และ ระยะตัวเต็มวัยหรือตัวยุง ทั้ง 4 ระยะมีความแตกต่างกันทั้งรูปร่างลักษณะและการดำรงชีวิตลักษณะสำคัญทั่วไปของยุงลายคือ
ระยะตัวเต็มวัย (ตัวยุง)
1. ร่างกายอ่อนนุ่ม เปราะบาง แบ่งเป็น 3 ส่วนแยกออกจากกันเห็นได้ชัดเจนคือ ส่วนหัว ส่วนอก
และส่วนท้อง ลำตัวยาวประมาณ 4-6 มม. มีเกล็ดสีดำสลับขาวตามลำตัวรวมทั้งส่วนหัวและส่วนอกด้วย
2. มีขา 6 ขาอยู่ที่ส่วนอก ขามีสีดำสลับขาวเป็นปล้องๆ ที่ขาหลังบริเวณปลายปล้องสุดท้ายมีสีขาว
ตลอด
3. มีปีกที่เห็นได้ชัดเจน 2 ปีกอยู่บริเวณส่วนอก ลักษณะของปีกบางใส มีเกล็ดเล็กๆบนเส้นปีก
ลักษณะของเกล็ดแคบ ยาว บนขอบหลังของปีกมีเกล็ดเล็กๆเป็นชายครุย นอกจากนี้ที่ส่วนอกยังมีอวัยวะที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการทรงตัวอยู่ใกล้กับปีก
4. มีปากยาวมาก ลักษณะปากเป็นแบบแทงดูด
5. เส้นหนวดประกอบด้วยปล้องสั้นๆ 14-15 ปล้อง ที่รอยต่อระหว่างปล้องมีขนขึ้นอยู่โดยรอบ ใน
ยุงตัวผู้เส้นขนเหล่านี้ยาวมาก (ใช้รับคลื่นเสียงที่เกิดจากการขยับปีกของยุงตัวเมีย) มองดูคล้ายพู่ขนนก ส่วนในยุงตัวเมียเส้นขนที่รอยต่อระหว่างปล้องจะสั้นกว่าและมีจำนวนน้อยกว่า ลักษณะของหนวดยุงจึงใช้ในการจำแนกเพศของยุงได้ง่าย
ยุงลายบ้าน ยุงลายสวน
ระยะไข่
ไข่ยุงลายมีลักษณะรีคล้ายกระสวย เมื่อวางออกมาใหม่ๆจะมีสีขาวนวล ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลและดำสนิทภายใน 24 ชั่วโมง
ระยะลูกน้ำ
ไม่มีขา ส่วนอกมีขนาดใหญ่กว่าส่วนหัว ส่วนท้องยาวเรียวประกอบด้วยปล้อง 10 ปล้อง มีท่อหายใจอยู่บนปล้องที่ 8 และมีกลุ่มขน 1 กลุ่มอยู่บนท่อหายใจนั้น
ระยะตัวโม่ง
ไม่มีขา มีอวัยวะสำหรับหายใจอยู่บนด้านหลัง (บริเวณที่เป็นส่วนหัวรวมกับส่วนอก)
อาการผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกมีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ 4 ประการ เรียงตามลำดับการเกิดก่อน - หลัง ดังนี้
1. ไข้สูงลอย 2 - 7 วัน
2. มีอาการเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง
3. ตับโต กดเจ็บ
4. มีภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว / ภาวะช็อก
ผู้ป่วยทุกรายจะมีอาการไข้สูงแบบเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ไข้อาจสูงถึง 40 - 41 องศาเซลเซียส บางรายอาจถึงชักได้ ผู้ป่วยมักจะมีหน้าแดง ผิวหนังแดงบริเวณคอ หน้าอก และลำตัว เด็กบางคนอาจบ่นปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามตัวพร้อม ๆ กับมีไข้สูง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการน้ำมูกไหล หรืออาการไอ เด็กโตอาจบ่นปวดศีรษะ ปวดรอบกระบอกตา อาการทางระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย คือ เบื่ออาการ อาเจียน บางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
อาการเลือดออกที่พบบ่อยที่สุด คือ จุดเลือดออกที่ผิวหนัง ตามแขนขา รักแร้ และลำตัวบางรายมี
เลือดกำเดาออก เลือดออกที่ใต้เยื่อบุตา เลือดออกตามไรฟัน อาการเลือดออกที่รุนแรง คือ เลือดออกในกระเพาะอาหารและลำไส้ ผู้ป่วยจะอาเจียนเป็นเลือดสีน้ำตาล หรือถ่ายดำ อาการเลือดออกมักจะเริ่มเกิดขึ้นประมาณวันที่ 2 - 3 นับแต่เริ่มป่วย จุดเลือดออกตามผิวหนังมักหายไปภายใน 3 - 4 วัน ตับมักจะโตและคลำได้ใต้ชายโครงขวา อาจจะกดเจ็บ มักจะตรวจพบได้ประมาณวันที่ 3 - 4 นับแต่เริ่มป่วย ในรายที่อาการรุนแรงผู้ป่วยจะมีการช็อก ซึ่งมักจะเริ่มประมาณวันที่ 3 - 4 นับแต่เริ่มมีไข้ผู้ป่วยจะช็อกก่อนไข้จะลงหรือภายในระยะ 24 - 48 ชั่วโมง หลังจากไข้ลง ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่ายมือเท้าเย็น รอบปากเขียว ชีพจรเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ระยะช็อกนี้จะเกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วถ้าให้การรักษาไม่ทันผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตภายใน 24 - 48 ชั่วโมง
ในระยะหลัง ๆ มานี้เริ่มพบผู้ป่วยที่มีการทางสมองคล้ายสมองอักเสบ หรืออาการภาวะของตับล้ม
เหลว หรือมีความผิดปกติของไตร่วมด้วยในผู้ป่วยบางราย หลังจากไข้หายแล้ว 24 - 48 ชั่วโมง อาการช็อกก็จะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเข้าสู่ระยะฟื้นตัว เริ่มรับประทานอาหารได้มากขึ้น อาจจะมีผื่นแดงตามแขนขา และวงขาว ๆ ตรงกลางได้ (Convalescent rash)
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคไข้เลือดออก
การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก อาศัยอาการทางคลินิกร่วมกับผลการตรวจทางโลหิตวิทยา ก็เพียงพอ
ต่อการวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก ได้แก่
1. ไข้สูงเฉียบพลัน และสูงลอย 2 - 7 วัน
2. อาการเลือดออกอย่างน้อย tourniquet test ให้ผลบวกร่วมกับอาการเลือดออกอื่น
3. ปริมาณเกล็ดเลือด 100,000 เซลล์ / ลบ.มม. หรือนับจำนวนเกล็ดเลือดใน 10 oil field ค่าเฉลี่ย 3 per oil fied
4. ความเข็มข้นของเม็ดเลือดแดง (Hct) เพิ่มขึ้น เท่ากับหรือมากกว่า 20 % เมื่อเทียบกับ Hct เดิมการ
ส่งตัวอย่างน้ำเหลือง (Serology) เพื่อตรวจยืนยันโรคไข้เลือดออก ควรส่งเมื่อผู้ป่วยมีอาการรวมทั้งผลการตรวจโหลิตวิทยาไม่ชัดเจน หรือผู้ป่วยมีอาการลักษณะแปลกออกไป (Unusual manifestation) เช่นอาการทางสมอง ทางตับ
วิธีรักษาผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเบื้องต้น
ขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะสำหรับเชื้อไข้เลือดออกและไม่มีวัคซีนป้องกันการรักษา
โรคนี้เป็นแบบการรักษาตามอาการและประคับประคอง ซึ่งจะได้ผลดีถ้าให้การวินิจฉัยโรคได้ตั้งแต่ระยะแรก
การรักษา มีหลักปฏิบัติดังนี้
1. ในระยะไข้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีประวัติเคยชัก หรือในรายที่ปวดศีรษะและปวดเมื่อตาม
ตัว อาจให้ยาลดไข้ ควรใช้ยาพวกพาราเซตามอล ไม่ควรใช้ยาพวกแอสไพริน เพราะจะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน และเลือดออกได้ง่ายขึ้น ควรให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราวเวลาที่ไข้สูงเท่านั้นเนื่องจากเป็นระยะที่มีเชื้อไวรัสในกระแสเลือด ซึ่งเมื่อหมดฤทธิ์ยาแล้ว ไข้ก็อาจขึ้นสูงได้อีก จนกว่าเชื้อไวรัสจะหมดจากกระแสเลือด ร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกันขึ้น (Antibody)
2. ให้ผู้ป่วยได้น้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียนทำให้ขาดน้ำและขาดเกลือโซเดียมด้วย ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) ในรายที่อาเจียนควรให้ดื่มครั้งละน้อย ๆ และดื่มบ่อย ๆ
3. จะต้องติดตามดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ตรวจพบและป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา ภาวะช็อกมักจะเกิดพร้อมกับไข้ลดลง หรือภายใน 24 - 48 ชั่วโมง หลังจากไข้ลด มักเกิดประมาณตั้งแต่วันที่ 3 ของการป่วย ควรแนะนำให้พ่อแม่ทราบอาการนำของช็อก ซึ่งอาจจะมีอากาซึม เบื่ออาการ ไม่รับประทานข้าว หรือดื่มน้ำติดต่อกันหลายวัน อาจมีอาการปวดท้องใต้ชายโครงขวา หรือมีอาการปัสสาวะน้อยลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ควรแนะนำให้รีบส่งโรงพยาบาลทันทีที่มีอาการเหล่านี้
4. เมื่อผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาล แพทย์จะตรวจเลือดดูปริมาณเกล็ดเลือดและฮีมาโตคริตและอาจนัดมาตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของเกล็ดเลือดและฮีมาโตคริตเป็นระยะ ๆ เพราะถ้าปริมาณเกล็ดเลือดเริ่มลดลงและฮีมาโตคริตเริ่มสูงขึ้น เป็นเครื่องชี้บ่งว่าน้ำเลือดรั่วออกจากเส้นเลือด และอาจจะช็อกได้ จำเป็นต้องให้สารน้ำชดเชย
5. โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องรับผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรกที่ยังมีไข้ สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยให้ยาไปรับประทาน และแนะนำให้ผู้ปกครองเฝ้าสังเกตอาการตามข้อ 3 หรือแพทย์นัดให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลเป็นระยะ ๆ โดยตรวจดูการเปลี่ยนแปลงตามข้อ 4 ถ้าผู้ป่วยมีอาการหรือแสดงอาการช็อก อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด ถึงแม้อาการไม่มากก็ต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลทุกราย และถือว่าเป็นเรื่องรีบด่วนในการรักษา

ป้องกันตนเองจากยุงลาย
เมื่อโดนยุงลายจู่โจมเข้าให้แล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องทำ คือ หาวิธีต่าง ๆ ที่จะป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด
ซึ่งทำได้หลายวิธี
• ควรกรุหน้าต่าง ประตู และช่องมด้วยมุ้งลวดตรวจตราซ่อมแซมฝาบ้าน ฝ้าเพดาน อย่าให้มีร่อง ช่องโหว่หรือรอยแตก เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายเข้ามาในบ้าน
• เวลาเข้า - ออกควรใช้ผ้าปัดประตูมุ้งลาดก่อน เพื่อไล่ยุงลายที่อาจจะเกาะอยู่ตามที่ต่าง ๆ
• เก็บของในบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ เพราะยุงลายชองไปหลบซ่อนตามมุมมืดของห้องและเครื่องเรือนต่าง ๆ ที่รก ๆ
• ขณะอยู่ในบ้านควรอยู่ในบริเวณที่มีลมพัดผ่านและมีแสงสว่างเพียงพอ
• ยุงลายจะชอบกัดตอนกลางวัน และมักเป็นช่วงที่คนหลับ ดังนั้นเวลาหลับควรกางมุ้งหรือนอนในห้องที่มีมุ้งลวด เปิดพัดลมส่วยเบ่า ๆ ก็ช่วยไล่ยุงได้หรือถ้าหากที่บ้านมียุงมากจริง ๆ ก็ต้องพิถีพิถันในการเลือกเสื้อผ้าสวมใส่สักหน่อย ซึ่งควรใส่กางเกงขายาว เสื้อมีแขน เพื่อให้เหลือพื้นที่เปล่าเปลือยและเสี่ยงต่อการถูกยุงกัดน้อยที่สุด
• ใช้ยากันยุง ซึ่งมีวางขายอยู่หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น..
ยากันยุงชนิดขด ชนิดแผ่น ชนิดน้ำ ซึ่งต้องใช้ความร้อนช่วยในการระเหยสารออกฤทธิ์ ตอนนี้ใน
ท้องตลาดมีวางขายอยู่หลากหลายยี่ห้อมาก
ยากันยุงชนิดใช้ทาผิว ซึ่งมีทั้งชนิดครีม โลชั่น แป้งสารออกฤทธิ์หลักในผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีทั้งที่เป็น
สารเคมีจำพวก deet และสารสกัดจากพืช
การใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มทาผิวที่มี deet เป็นสารออกฤทธิ์หลักนี้ ก่อนซื้อต้องพิจารณาว่ามีสารออกฤทธิ์
มากน้อยเพียงใด ผู้ใหญ่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี deet อยู่ระหว่าง 15-20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเด็กไม่ควรเกินกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ และต้องใช้ตามคำแนะนำที่ระบุไว้ข้างกล่องอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ห้ามทาบริเวณตา (บางยี่ห้อก็ห้ามทาบริเวณผิวหน้า) ผิวที่มีรอยถลอกหรือมีแผลไม่ควรทาซ้ำในช่วงเวลาสั้น ๆ (ส่วนใหญ่ทางครั้งหนึ่งจะกันยุงได้ประมาณ 3-4 ชั่วโมง) ไม่ควรใช้ทุกวันติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ไม่ควรใช้กับแม่ตั้งครรถ์และผู้สูงอายุ นอกจากนี้ไม่ควรทายากันยุงที่มือเด็กเพราะเด็กอาจเผลอขยี้ตาหรือหยิบจับอาหารใส่ปาก ซึ่งจะทำให้สารเคมีเข้สู่ร่างกาย
หลักทายากันยุงแล้วพบว่ามีอาการแพ้ เช่น เป็นผื่น ผิวแดง หรือรู้สึกร้อน ต้องหยุดใช้ทันที ล้างผิว
บริเวณที่ทาด้วยน้ำกับสบู่ แล้วรีบไปพบคุณหมอพร้อมนำยากันยุงที่ใช้นั้นไปด้วยเพราะ deet อาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้ หากใช้ไม่ถูกวิธีหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี deet ผสมอยู่ในสัดส่วนที่สูงมาก (เกิน 30 เปอร์เซ็นต์) และใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ deet จะเป็นอันตรายหากกินเข้าไป บางรายอาจมีอาการทางสมอง ชัก และเสียชีวิตได้ การสูดดมไอระเหยของ deet เป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดอาการวิงเวียน เพราะเหตุนี้จึงมีผู้ผลิตยากันยุงปลอด deet โดยใช้สารอื่น ๆ โดยเฉพาะสารที่สกัดได้จากพืช ที่แม้จะไม่ประสิทธิภาพในการไล่ยุงได้ดีเท่ากับ deet แต่มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้มากกว่า เช่น ตะไคร้หอม ยูคาลิปตัส กระเทียม และมะกรูด ฯลฯ ซึ่งตอนนี้ก็หาซื้อได้ง่ายในท้องตลาด
ยาฉีดไล่ยุงชนิดกระป๋อง ที่มีวางขายนั้นมีทั้งแบบที่เป็นกระป๋องทรงกระบอกอัดน้ำยาเคมีสำหรับฉีด
พ่นได้ทันทีเมื่อใช้หมดแล้วไม่สามารถเติมน้ำยาเคมีใหม่ได้ และแบบที่เป็นกระป๋องสี่เหลี่ยม ซึ่งต้องเติมน้ำยาเคมีลงในกระบอกฉีดและผู้ใช้ต้องสูบฉีดน้ำยาในขณะพ่นด้วยตัวเอง เมื่อน้ำยาเคมีหมดก็สามารถเติมน้ำยาใหม่ได้
ปัจจุบันสารเคมีกำจัดยุงมีทั้งชนิดสูตรน้ำมันและชนิดสูตรน้ำ ซึ่งชนิดสูตรน้ำจะปลอดภัยต่อคนและ
สิ่งแวดล้อมมากกว่า รวมทั้งไม่ทำให้บ้านเรือนเปรอะเปื้อนด้วย
กำจัดยุงด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้า มีทั้งชนิดที่เป็นกับดักไฟฟ้า ใช้ไฟบ้าน 220 โวลต์ โดยหลักการคือใช้แสง
ไฟล่อให้ยุงบินเข้าไปหากับดัก เมื่อยุงบินไปถูกซี่กรงที่มีไฟฟ้าจะถูกไฟฟ้าช็อตตาย
กำจัดยุงไฟฟ้าแบบใช้แบตเตอรี่ มีรูปร่างคล้ายไม้เทนนิสแต่แทนที่จะเป็นเส้นเอ็นก็เป็นซี่ลวด ซึ่งเมื่อ
เปิดสวิตช์ก็จะมีกระแสไฟฟ้าผ่าน ผู้ใช้ต้องโบกให้ซี่ลวดถูกตัวยุง ยุงจะถูกไฟช็อตตาย
อย่างไรก็ตาม การกำจัดยุงลายเปรียบเหมือนการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทำได้ยาก และเสียค่าใช้จ่ายสูง
กว่าการลดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคไข้เลือดออก
ที่มา : กลุ่มโรคไข้เลือดออก สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น